ผศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีมอบกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว ภายใต้โครงการการส่งเสริมและติดตามเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่สำหรับเกษตรกร โดยมี ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานความเป็นมาโครงการฯ จากนั้น ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงโครงการวิจัยมุ่งเป้า และมอบต้นกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวร่วมกับคณบดีคณะเกษตรด้วย
รศ.สุภาพร กลิ่นคง ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยจะบรรยายการผลิตกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวให้กับเกษตรกร จากนั้นจะเป็นพิธีมอบกล้าพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวให้กับจากโรงงานน้ำตาลต่างๆ ใน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธาอัส จำกัด (Crop Tech Asia, CTA) โรงงานน้ำตาลพิษณุโลก กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โรใบขาวอ้อย
โรคใบขาวอ้อย มีการระบาดเป็นโรคที่สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท สาเหตุโรคเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา ซึ่งมีการแพร่กระจายของเชื้อโดยการถ่ายทอดติดไปกับท่อนพันธุ์จากต้นหรือตอที่เป็นโรคใบขาว และยังสามารถถ่ายทอดเชื้อได้โดยมีแมลงปากดูดพวกเพลี้ยจักจั่นเป็นแมลงพาหะ จากการขยายกำลังการผลิตอ้อยโดยการเพิ่มพื้นที่ปลูกทำให้เกิดการขาดแคลนท่อนพันธุ์ จึงทำให้เกิดการขนย้ายท่อนพันธุ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อไฟโตพลาสมาแฝงอยู่ข้ามไปยังพื้นที่ต่างๆทำให้เกิดการกระจายของโรคไปยังทุกแหล่งเพาะปลูก ส่งผลให้การแพร่ระบาดของโรคใบขาวเป็นไปอย่างรวดเร็ว และชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่มักเก็บอ้อยที่ปลูกส่งโรงงานไว้ใช้ทำพันธุ์ต่อ ทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยมีการระบาดโรคเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้างขึ้นในทุกปี เกิดการสะสมโรคใบขาวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในระยะยาว
รศ.สุภาพร กลิ่นคง ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัย ได้กล่าวว่า การใช้ต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและผ่านกระบวนการอนุบาลต้นกล้าจนถึงการผลิตต้นอ้อยเพื่อใช้เป็นท่อนพันธุ์ปลอดโรคใบขาวในแปลง การตรวจแปลง และการตรวจรับรองแปลงพันธุ์ปลอดโรคใบขาว ร่วมกับการควบคุมแมลงพาหะเพื่อลดการระบาดของโรคใบขาวในแปลง เป็นวิธีการในการดำเนินการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อยที่ได้ผลแบบยั่งยืนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ปี 2559 ในโครงการ “การขยายผลเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว” ใน 2560 เรื่อง “การจัดทำแปลงพันธุ์ขยายอ้อยปลอดโรคใบขาว” และปี 2562 เรื่อง “การส่งเสริมและติดตามเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวแบบประณีตแนวใหม่สำหรับเกษตรกร” ซึ่งได้ดำเนินการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคโดยใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออ้อยปลอดโรคใบขาว การขยายพันธุ์อ้อยในเชิงอุตสาหกรรมด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์ การอนุบาลต้นกล้าในระบบโรงเรือนกันแมลงการพัฒนาเทคนิคที่มีความไวสูง (sensitivity) มาใช้ตรวจเชื้อไฟโตพลาสมาปริมาณน้อยๆ ในทุกส่วนของต้นอ้อย เช่น เทคนิคพีซีอาร์ (PCR : Polymerase chain reaction) และเทคนิคแลมป์(LAMP: Loop mediated isothermal amplification) เป็นต้น
โครงการนำร่องผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวนี้ ได้ผลิตอ้อยปลอดโรคใบขาวพันธุ์ขอนแก่น 3 และ LK92-11 รวมจำนวน 100,000 ต้น เพื่อนำไปแจกจ่ายสู่เกษตรกรใช้ปลูกทดแทนอ้อยเป็นโรคและลดพื้นที่การระบาดของโรคใบขาว และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยปลอดโรคใบขาวให้กับเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลและผู้สนใจต่างๆ ได้นำไปใช้ปลูกขยายพันธุ์ทดแทนอ้อยเป็นโรคใบขาว และได้รับความรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาว และการจัดทำแปลงพันธุ์ขยายอ้อยปลอดโรคใบขาว
นับเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยของประเทศได้ต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคใบขาวไปปลูกและขยายพันธุ์ต่อไป เพื่อให้ได้ผลผลิต ราคาที่ดีส่งผลให้เศรษฐกิจการส่งออกน้ำตาลของประเทศดีขึ้น ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประสานงานชุดโครงการด้านอ้อยและน้ำตาล โทรศัพท์ 094-931-4114 หรือ 094-986-2020 หรือ email: kusugarproject@gmail.com