กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนเงาะเฝ้าระวังการเกิดโรคราแป้ง มักพบได้ในระยะที่ต้นเงาะสร้างช่อดอกและเริ่มติดผลอ่อน เริ่มแรกจะพบผงสีขาวหรือสีเทาอ่อนคล้ายแป้งเกาะบนช่อดอกและตามร่องขนของผลเงาะ ทำให้ต้นเงาะติดผลน้อยหรือไม่ติดผล กรณีที่ต้นเงาะติดผลจะมีผลขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ ผลหลุดร่วงง่ายหรือทำให้ผลเน่าแห้งติดคาที่ก้านช่อ หากเป็นโรคราแป้งในระยะผลโต จะทำให้ขนที่ผลแห้ง แข็ง ผิวผลมีสีคล้ำไม่สม่ำเสมอ ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ขนกุด เรียกว่า เงาะขนเกรียน สำหรับในระยะที่ผลเงาะกำลังสุก ส่วนที่มีเชื้อราปกคลุมจะมีสีซีดกว่าปกติ อาจพบอาการของโรคได้ที่ส่วนยอดและใบ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบอ่อนร่วง
สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคราแป้ง ให้เกษตรกรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และตัดแต่งทรงพุ่มต้นเงาะให้โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อเป็นการลดความชื้นในทรงพุ่ม และลดแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค จากนั้น เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรค ให้เกษตรกรตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรเมื่อใช้ในแปลงที่มีการระบาดแล้ว เกษตรกรควรนำเครื่องมือมาทำความสะอาดด้วยการล้างและผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง
กรณีพบการระบาดของโรคราแป้ง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชสารซัลเฟอร์ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรโฟรีน 19% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และควรหยุดพ่นสารก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 15 วัน หลีกเลี่ยงการพ่นสารในช่วงที่ดอกเงาะบานหรือเริ่มติดผลอ่อน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแมลงช่วยผสมเกสร สำหรับสารซัลเฟอร์ ไม่ควรพ่นในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนหรือมีแดดจัด เพราะอาจทำให้เกิดอาการไหม้ที่ช่อดอกและผลอ่อนได้