กว่า 40 ปีที่รอคอย ความหวังของราษฎรบ้านแก้งกะอามเริ่มเป็นรูปธรรม เมื่อกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว จังหวัดกาฬสินธุ์
บ้านแก้งกะอาม เป็นหมู่บ้านที่อยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาภูพาน ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงทำให้เพาะปลูกพืชได้เพียงปีละครั้ง อีกทั้งบางปีที่ฝนทิ้งช่วงก็ทำให้นาข้าวได้รับความเสียหาย ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ จึงได้รวมตัวกันร้องขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำผาเสวยตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาวางโครงการพบว่า สามารถที่จะพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางได้ โดยสร้างเขื่อนกั้นลำห้วยหลัวที่บริเวณหมู่ที่ 6 บ้านแก้งกะอาม ต.ผาเสวย สามารถเก็บกักน้ำ ได้ประมาณ 8.27 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูพานซ้อนทับป่าสงวนแห่งชาติแก้งกะอาม จำนวน 839 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สงวนไว้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน รอบด้าน โดยดำเนินการตามแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งครอบคลุมประเด็นทรัพยากรทางด้านกายภาพ ทรัพยากรทางด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งเสนอมาตรการที่จะป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการให้มีน้อยที่สุดหรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 4,695 ไร่ และฤดูแล้ง 1,403 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 9 หมู่บ้าน ในเขต 2 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลผาเสวย จำนวน 8 หมู่บ้าน และเทศบาลตำบลลำห้วยหลัว จำนวน 1 หมู่บ้าน โดยจะส่งน้ำให้กับพื้นที่ของราษฎรผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย และคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการปลูกข้าวในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตมากขึ้น ส่วนในฤดูแล้งราษฎรยังสามารถที่จะเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย อาทิ แตงโม พืชผัก ในฤดูแล้งได้อีกด้วย ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยหลัวยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และมีผลประโยชน์ทางอ้อมต่อทรัพยากรธรรมชาติบริเวณพื้นที่รอบๆ โครงการอีกด้วย ช่วยให้ลำน้ำห้วยหลัวมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ระบบนิเวศน์ในน้ำ เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น และนอกจากนี้ยังสามารถปล่อยน้ำให้กับน้ำตกแก้งกะอามในช่วงสงกรานต์เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงการก็ส่งผลกระทบต่อราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในบริเวณพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 50 ราย ซึ่งมีความยินดีที่จะเสียสละพื้นที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และราษฎรที่มีพื้นอยู่ตามแนวคลองส่งน้ำอีกประมาณ 104 ราย ซึ่งหากมีการพัฒนาโครงการกรมชลประทานจะต้องดำเนินการชดเชยความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ในด้านผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติพบว่า พื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำอยู่ในบริเวณชายขอบของอุทยานแห่งชาติภูพาน ซึ่งมีสภาพเป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 342 ไร่ และพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไม้ 524 ไร่ ซึ่งเป็นป่าเต็งรัง พบพรรณไม้จำพวก ไม้เต็ง รัง ประดู่ ตะแบก แดง ติ้ว ไม่พบพรรณพืชที่เป็นพืชหายาก หรือพืชที่อยู่ในสถานภาพใกล้ สูญพันธุ์ ส่วนด้านสัตว์ป่า จากการสำรวจส่วนใหญ่จะพบสัตว์จำพวกนกมากที่สุด เช่น นกกินปลีอกเหลือง เหยี่ยวปีกแดง นกตะขาบทุ่ง เป็นต้น รองลงมาได้แก่ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จิ้งเหลนหลากลาย กิ้งก่า งูต่างๆ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป เช่น หนูพุกใหญ่ หนูท้องขาว กระแต กระจ้อน เป็นต้น ไม่พบสัตว์ป่าที่มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการจะได้มีการอพยพช่วยเหลือสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ก่อน โดยในการศึกษาวิเคราะห์กระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ทั้งในระยะก่อสร้างโครงการ ระยะดำเนินการโครงการ งบประมาณจำนวน 46 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 14 แผนงาน และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 12 แผนงาน งบประมาณค่าก่อสร้างเขื่อนและระบบส่งน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 625.60 บาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีอนึ่ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 กรมชลประทาน ได้เปิดทำการปัจฉิมนิเทศโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธาน และนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน นายสมลักษณ์ ยกน้อยวงศ์ นายอำเภอสมเด็จ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ก่อนที่จะนำสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณจุดที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำลำห้วยหลัว ซึ่งอยู่ติดกับจุดชมวิวผาเสวย ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์
นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยหลัวเป็นอ่างเก็บน้ำที่ประชาชนอาศัยอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาภูพานได้ร้องขอต่อรัฐบาลให้เปิดโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำผาเสวย พร้อมขอให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2519 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายและผลผลิตตกต่ำ ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ฝืดเคือง
ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลัวนั้น นอกจากจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 8.27 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งแล้ว ภูมิทัศน์บริเวณหัวงานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะสามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน และชุมชนโดยรอบ เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้มีการจ้างงานส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย
ขณะที่ นายวิเศษ ตาปา ชาวบ้านขมิ้น ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันชาวบ้านใน ต.ผาเสวย และใกล้เคียงประสบวิกฤติปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูงไม่มีอ่างเก็บน้ำไว้กักเก็บน้ำอุปโภค บริโภคในช่วงหน้าแล้ง