ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของ นางจงใจ เตชะมา ซึ่งตั้งอยู่บ้านเลขที่ 45/3 หมู่ 5 บ้านห้วยกุ่ม ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา นับเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จภายใต้นโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรและชุมชน ให้สามารถจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจร โดยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ชุมชนและหน่วยงานราชการ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อทำให้เกษตรกร ชุมชน มีความเข้มแข็งในอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาสารเคมี ภายใต้บทบาทของการเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)
สำหรับในพื้นที่อำเภอศรีราชานั้น มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่ปลุกกันมากโดยทั่วไป ได้แก่ มันสำปะหลัง และมะพร้าวแกง และได้ประสบปัญหาการระบาดของศัตรูพืช โดยในมันสำปะหลังได้พบการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู ส่วนมะพร้าว ต้องประสบปัญหาพบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว
ทั้งนี้ เพลี้ยแป้งสีชมพู เป็นศัตรูตัวที่ทำให้มันสำปะหลังเสียหายโดยดูดจะกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอด ทำให้ยอดหงิกเป็นพุ่มหรือยอดแห้งตาย ลำต้นมีข้อถี่ โค้งบิดงอ มันสร้างหัวน้อยลงหรือไม่สร้างหัวเลย ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก
ส่วน หนอนหัวดำ นับเป็นศัตรูตัวร้ายของมะพร้าว เนื่องจากจะเข้าทำลายใบมะพร้าว ทำให้ใบมะพร้าวแห้ง โดยหนอนหัวดำมะพร้าวจะมีระยะตัวหนอน 7 – 8 วัย อายุหนอน 33 – 39 วัน ระยะดักแด้ 9 – 11 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีอายุ 5 – 11 วัน ระยะที่ทำลายมะพร้าว คือ ระยะตัวหนอนเท่านั้นที่ทำลาย โดยการกัดแทะผิวใบ โดยทั่วไปชอบทำลายใบมะพร้าวแก่ จากนั้นจะเข้าดักแด้ภายในใบมะพร้าว แล้วออกมาเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด
นางจงใจได้ให้ข้อมูล ผลการเข้ามาระบาดของแมลงศัตรูพืชดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรเป็นอย่างมาก แต่ด้วยการเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอศรีราชา สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี จึงทำให้สามารถแก้ไขปัญหาลงได้
ทั้งนี้ในการเข้ามามีบทบาทของหน่วยงานภายใต้สังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งสำนักงานเกษตรอำเภอศรีราชา สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการวิเคราะห์ และการทำงานร่วมกันของชุมชน ด้วยการร่วมกันวางแผน ป้องกัน จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกัน กำจัดศัตรูมะพร้าวแก่สมาชิกและเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายออกไป พร้อมกันนี้ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ และติดตามผล
จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญดังกล่าว สามารถลดปัญหาการเกิดการระบาดและความเสียหายลงได้อย่างน่าพอใจ โดยในส่วนของมันสำปะหลังได้เน้นการผลิตแมลงช้างปีกใส (ตามสถานการณ์) ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพู ส่วนในมะพร้าวเน้นให้ดำเนินการผลิตขยายแตนเบียนบราคอน การตัดทางใบลงมาเผาทำลาย ฯ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถลดการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวลงได้อย่างชัดเจน
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ส่วนใหญ่ปัญหาในการจัดการศัตรูพืชของเกษตรกร จะพึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก การควบคุมศัตรูพืช อาศัยประสบการณ์และความเคยชิน ขาดความรู้ด้านวิชาการเป็นอย่างมาก จึงทำให้การผลิตพืชขาดทั้งปริมาณ คุณภาพ และระบบนิเวศถูกทำลาย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงวางเป้าหมายให้จัดตั้ง ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ขึ้น เพื่อใช้เป็นกลไก และเครือข่ายของการจัดการศัตรูพืช รวมทั้งเป็นศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้ง ศจช. รวมทั้งหมด 1,764 แห่ง อำเภอละ 2 แห่งทั่วประเทศ
“ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่จัดตั้งขึ้น ได้เน้นการใช้เทคนิค การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร คือการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกษตรกรจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง อย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยให้เกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการระบาดศัตรูพืชแก่เกษตรกร และเป็นจุดในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืช รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเกษตรกรในการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีด้านการจัดการ ศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อช่วยแก้ปัญหาการระบาดของศัตรูพืช และลดการใช้สารเคมี ในระยะยาว” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว
ขณะที่ นายทวีพงศ์ สุวรรณโร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตั้งเป้าให้ ศจช.ทุกแห่ง จัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการศัตรูพืชอย่างเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ รวมถึงการจัดระดับชั้นของ ศจช. เพื่อวางแผนพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสม ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ต่อไป
“ สำหรับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) อำเภอศรีราชาแห่งนี้ เกษตรกรมีความเข้มแข็ง ร่วมแรงร่วมใจรวมตัวกันผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ และใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเอง เมื่อทุกครัวเรือนร่วมใจกัน ก็ทำให้พื้นที่การเกษตรสามารถป้องกันปัญหาศัตรูธรรมชาติได้” นายทวีพงศ์ กล่าวในที่สุด