“ปัจจุบันปัญหาหนึ่งของการเกษตร คือเกษตรกรยังไม่สามารถเข้าถึงพันธุ์ดี และ พันธุ์ดียังมีราคาแพง ในขณะที่พืชหลายชนิดเรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่มาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืช 10 แห่ง ทั่วประเทศ” นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างภายหลังเป็นประธานงานเปิดบ้านกองขยายพันธ์พืช ที่ศูนย์ขยายพันธ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ ของกรมส่งเสริมการเกษตร มีเป้าหมายเพื่อรองรับการผลิตและขยายพันธุ์พืชในชั้นพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายไปสู่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์พันธุ์พืชชุมชน Young Smart Farmer แปลงใหญ่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่มีความต้องการ ผ่านกลไกงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และยังผลิตรองรับพืชเศรษฐกิจที่มีปัญหาโรคพืชแฝงติดไปกับต้นพันธุ์ เช่น ท่อนมันสำปะหลัง
“ในการดำเนินการนั้นได้มีการปรับพื้นที่ของ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร 10 ศูนย์ ซึ่งเดิมคือ ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ซึ่งมีภารกิจหลักในการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออยู่แล้ว และปรับปรุงให้เป็นศูนย์ขยายพันธุ์พืชให้ครบทุกวิธี ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ การใช้ท่อนพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อสู่เกษตรกร และจัดตั้งกองขยายพันธุ์พืชในการกำกับดูแล “
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์ฯ ได้กระจายอยู่ทั่วประเทศ 10 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช ชลบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุดรธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม ลำพูน และพิษณุโลก ซึ่งในการทำงานนั้นจะเน้นวิเคราะห์ความต้องการด้านการผลิต ผ่านขับเคลื่อนผ่านกระบวนการงานส่งเสริมการเกษตร มี สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ทำงานร่วมกัน
ส่วน นายวิชัย ตู้แก้ว ผู้อำนวยการกองขยายพันธุ์พืช กล่าวเพิ่มเติมว่า กองขยายพันธุ์พืช เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2561 โดยได้ปรับปรุงโรงเรือนอนุบาลพันธุ์พืช จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชจังหวัดชลบุรี, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, มหาสารคาม และอุดรธานี จัดทำแปลงพันธุ์ไม้ผลยืนต้น พืชผักสมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ กว่า 102 ชนิด พื้นที่ 838 ไร่ สำหรับเตรียมความพร้อมในการผลิตต้นพันธุ์พืชพันธุ์ดี รวมถึงผลิตแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดีในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ สตรอว์เบอร์รี่ สับปะรดผลสด หน่อไม้ฝรั่ง กล้วยหิน อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และอื่น ๆ รวมกว่า 17 ชนิด มากกว่า 255,000 ต้น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานผลิตและขยายพันธุ์พืชให้มีความเข้าใจในการผลิตและขยายพันธุ์พืชตลอดทั้งกระบวนการผลิต
“สำหรับ ปีหน้ามีแผนผลิตพืชพันธุ์ดี กว่า 1 ล้านต้น เช่น ต้นพันธุ์อ้อยโรงงาน โดยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 100,000 ต้น เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบขาวซึ่งติดไปกับท่อนพันธุ์, ต้นพันธุ์กล้วยหิน โดยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 200,000 ต้น เพื่อแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยวจากแบคทีเรีย, ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง 100,000 ท่อน แก้ไขปัญหาหัวเน่าและใบด่าง , ต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ โดย เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 100,000 ไหล เพื่อรองรับผลิตสตรอว์เบอร์รี่นอกฤดูในโรงเรือน รวมไปถึงต้นพันธุ์สับปะรดผลสด โดยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 600,000 ต้นเพื่อรองรับการผลิตเพื่อการส่งออก และพืชอื่นๆ ตามความต้องการของพื้นที่อีกกว่า 30 ชนิด” นายวิชัย กล่าวในที่สุด