เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนเวลา 9.30 น. ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มร. ไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและมร. เคนเน็ธ ควินน์ ประธานมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์ (World Food Prize) ประกาศให้ มร. ไซมอน แนนน์ กรู๊ท ผู้ก่อตั้งบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด หรือเป็นที่รู้จักในนาม “ตราศรแดง” เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์ (World Food Prize) ประจำปี พ.ศ. 2562 ในฐานะของผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ สุขภาพและการได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนเกษตรกรรายย่อยกว่า 60 ประเทศในเขตร้อน ซึ่งช่วยให้เกษตรกรรายย่อยขยับขยายจากการทำการเกษตรแบบยังชีพมาเป็นผู้ประกอบการ
รางวัลมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์ หรือที่รู้จักในชื่อ “รางวัลโนเบลในวงการอาหารโลก” ได้ยกย่องถึงความทุ่มเทตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษของ มร.กรู๊ทและบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อนโดยมีเกษตรกรรายย่อยเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และขยายต่อเนื่องไปทั่วภูมิภาคเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา ผลงานของมร.กรู๊ท ได้แก่การฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืนในตลาดพืชผักทั้งในชนบทและในเมือง ทำให้ผู้ผู้บริโภคกว่าหลายล้านครัวเรือนสามารถเข้าถึงผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีราคาที่เหมาะสมได้มากขึ้น
มร. เคนเน็ธ ควินน์ ได้กล่าวถึง มร.กรู๊ท ว่า “สิ่งที่ มร.กรู๊ทได้ทุมเทในช่วงเวลาที่ผ่านมา คล้ายกับเรื่องรวมของ ดร. นอร์แมน บอร์ลัก ที่ได้รับรางวัลเดียวกันก่อนหน้านี้ โดย มร. กรู๊ทอุทิศเวลาทั้งชีวิตของท่านเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนนับล้านทั่วโลก” “ท่านและบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด ที่ท่านก่อตั้งขึ้น ได้พัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ทั่วโลก ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเกษตรกรจำนวน 20 ล้านคนในทุกๆ ปี ด้วยความทุ่มเทและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นี้ เราจึงเห็นสมควรมอบรางวัลมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์แก่ มร.กรู๊ท”
แรกเริ่มการปรับปรุงพันธุ์พืชผักเชิงพาณิชย์เป็นที่รู้จักแพร่หลายแต่ไม่รวมถึงประเทศในเขตร้อน เกษตรกรมากมายประสบปัญหาในการเพาะปลูกพืชที่ดี อันเนื่องมาจากเมล็ดพันธ์ุคุณภาพต่ำที่เกษตรกรเก็บจากการเพาะปลูกไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในหลายฤดูกาล ด้วยคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ส่งผลถึงรายได้ที่ลดน้อยลง อันนำไปสู่ความยากจนและการขาดสารอาหารที่ครบถ้วนของเกษตรกรรวมทั้งครอบครัวของพวกเขา มร. กรู๊ท เข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว ท่านเห็นหนทางที่จะทำลายวงจรความยากจนและช่วยให้เกษตรกรประสบความสำเร็จด้วยการส่งผ่านพืชผักที่มีมูลค่าและมีความหลากหลายไปยังพวกเขา
มร. กรู๊ท ได้ก่อตั้งโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรม ซึ่งมาจาการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีดและองค์กรไม่หวังผลกำไรทั้งในและต่างประเทศ โครงการนี้ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรกรรมเชิงปฎิบัติในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักไปยังเกษตรนับหมื่นคนทั่วโลกในทุก ๆ ปี ด้วยเหตุนี้ มร.กรู๊ท ได้กล่าวถึงรางวัลนี้ว่า “รางวัลนี้เป็นรางวัลสำหรับเกษตรกรรายย่อยหลายล้านคนที่ประสบความสำเร็จจากการเพาะปลูกเพื่อการยังชีพสู่การเพาะปลูกเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อครอบครัวและชุมชน พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเพาะปลูกพืชผักในพืนที่ที่ไม่ต้องใหญ่นัก เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้ การจ้างงานและปรับปรุงโภชนาการในชนบทได้ในเวลาเดียวกัน”
ศาสตราจารย์ ดร. Louise O. Fresco อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัย Wageningen University and Research กล่าวว่า“ฉันภูมิใจที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของเรามีส่วนผลักดันการพัฒนาและการเติบโตของตลาดพืชผักเขตร้อนเนื่องจากความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแนวทางการทำงานตามวิถีของชาวดัตช์ ดร. บอร์ลักจะประทับใจในความมานะ มุ่งมั่นและทุ่มเท รวมถึงวิสัยทัศน์ของ ม.ร. ไซมอน กรู๊ท และแน่นอนว่าความมั่นคงด้านอาหารที่แท้จริงนั้นไม่เพียงแต่จะต้องคำนึงถึงจำนวนแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหาร แต่รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการที่ได้จากพืชผักอีกด้วย
มร. กรู๊ท จะขึ้นรับรางวัลมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์ในวันที่ 17 ตุลาคมปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ ดิมอยน์ มลรัฐไอโอว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประวัติ มร.ไซมอน กรู๊ท
มร.ไซมอน กรู๊ท ทายาทรุ่นที่หกของครอบครัวผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ชาวดัตช์ รับรู้ถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของเกษตรกรในระหว่างการทำงานในแถบภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีหายาก พืชผักต่างๆ ไม่ทนต่อโรค อีกทั้งยังไม่มีการปรับปรุงและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ มร. กรู๊ทจึงเล็งเห็นถึงการปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตด้วยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
อีสท์ เวสท์ ซีด ฟิลิปปินส์ ได้ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) มีการพัฒนาพืชผักหลายสายพันธุ์โดยความร่วมมือกันหลายภาคส่วน และอีก 2 ปีต่อมา มร. กรู๊ท ได้ก่อตั้ง อีสท์ เวสท์ ซีด ขึ้นในประเทศไทย พร้อมกับแนวคิดการผสมผสานเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ของยุโรปให้เข้ากับวิถีการปลูกพืชผักเขตร้อนของเอเชีย
มร. กรู๊ท คิดเสมอว่า “เมล็ดพันธุ์ที่ดี สามารถเปลี่ยนชีวิตคนนับล้านได้” ดังนั้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้แก่เกษตรกรถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาอุตสาหกรรมการเกษตรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตลาดเมล็ดพันธุ์ในแถบเอเซีย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและระบบการเพาะปลูกในชุมชน
จากฟิลิปปินส์ สู่ประเทศไทย อีสท์ เวสท์ ซีดขยายฐานการผลิตในเขตภูมิภาคเอเซียอย่างต่อเนื่องไปที่ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เมียนมาร์ ทานซาเนีย กัวเตมาลา กัมพูชาและล่าสุดมาเลเซีย
ด้วยแนวคิดและมุมมองที่ยาวไกลและมุ่งเน้นการพัฒนา ปรับปรุงพันธุ์เพื่อประเทศเขตร้อนทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มร. กรู๊ทจึงได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตรจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นการแสดงถึงผลงานและความสำเร็จในเรื่องการเพาะพันธุ์พืชและพัฒนาโปรแกรมการเพาะพันธุ์พืชในประเทศไทยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฏราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2554
มร. กรู๊ทสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดให้กับนักเมล็ดพันธุ์หลายท่าน และเป็นผู้สนับสนุนให้จัดตั้งสมาคมเมล็ดพันธุ์หลายแห่งรวมถึงเป็นสมาชิกหลัก เช่น Asia Pacific Seed Association (APSA)ในปี 1994 และ AVRDC – World Vegetable Centre ในปี 2003 ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติด้วยการเป็นสมาชิกตลอดอายุของ APSA ในปี 2014 และในปี 2015 ได้รับการประกาศรางวัล Mansholt Business Award สำหรับผู้ประกอบการที่ยั่งยืนจาก Wageningen University & Research ประเทศเนเธอร์แลนด์