ม. เกษตร รับมอบ “สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ
ม. เกษตรฯ รับมอบ “สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ (KU TOWER) จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นมากว่าสืบเนื่องจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาเทคโนโลยีในการสำรวจ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูล ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศ” ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 โดย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหน้าที่พัฒนาระบบตรวจวัดอากาศ รวมถึงลักษณะอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน มลพิษในชั้นบรรยากาศ โดยให้คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบจัดตั้งสถานีวิจัยเพื่อการตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและคุณภาพอากาศ ซึ่งมีลักษณะเป็นเสาสูงขนาด 117 เมตรแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ที่ระดับความสูง 10, 30, 50, 75 และ 110 เมตร เพื่อตรวจวัดลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลแบบออนไลน์  เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพยากรณ์ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ

สถานีวิจัยเพื่อการตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและคุณภาพอากาศ นับเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่ใช้ในการวิจัยอิทธิพลของมูลสารในบรรยากาศต่อลักษณะอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวเดินในเขตเมือง คือ ครอบคลุมชั้นบรรยากาศ ที่อยู่ด้านบนในแนวดิ่งด้วย และผลการตรวจวัดลักษณะดังกล่าว จึงไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อรายงานลักษณะอุตุนิยมวิทยาในชีวิตประจำวัน หากแต่นำไปใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของมูลสารในบรรยากาศ

ผลงานที่โครงการได้ติดตามลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศสำหรับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 โดยทำการตรวจวัดข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน ได้แก่ ความเร็วลม ทิศทางลม อุณหภูมิ และความชื้น วัดที่ระดับความสูง 5 ระดับ 10, 30, 50, 75 และ 110 เมตร ปริมาณน้ำฝนวัดที่ระดับ 10 เมตร ความกดอากาศ วัดที่ระดับความสูง 3 ระดับ 10, 50 และ 110 เมตร และข้อมูลตรวจวัดมลสารทางอากาศ ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจน ก๊าซโอโซน ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ วัดที่ระดับความสูง 3 ระดับ 30, 75 และ 110 เมตร และยังได้ผลิตบัณฑิตในโครงการฯ ปริญญาเอก 1 คน ปริญญาโท 19 คน มีผลงานวิจัยที่ได้มาจากโครงการจำนวน 29 ผลงานสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ

ดร.รอยล จิตรดอน ผู้ริเริ่ม KU TOWER กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาที่พบมากในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่มีปัญหามลพิษทางอากาศอันดับต้นๆ ของโลกที่ประสบปัญหานี้มาอย่างยาวนานและได้มีการจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดสร้างเสาสูง ขนาด 325 เมตรจากระดับพื้นดิน หรือ Meteorological Tower สำหรับใช้ในการตรวจวัดข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและคุณภาพอากาศในกรุงปักกิ่ง   เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการเฝ้าระวัง วางแผน และแจ้งข้อมูลให้ประชาชนได้เตรียมตัวได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการจัดการของกรุงปักกิ่ง นับเป็นต้นแบบในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อย่างที่เรากรุงเทพมหานครประสบกับปัญหามลภาวะทางด้านอากาศอยู่เป็นประจำ ทั้งจากฝุ่นควันจากการจราจร การก่อสร้าง การทำอุตสาหกรรม และการพัดพามาจากพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากปัญหามลภาวะทางอากาศแล้ว สารที่ก่อให้เกิดมลพิษเช่น Aerosol ยังมีผลกระทบต่อสภาพอากาศ เช่น การเกิดเมฆฝน ดังนั้นเพื่อให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องมีข้อมูลสภาพอากาศในแนวดิ่ง รัฐบาลได้มองเห็นความสำคัญของข้อมูลจึงได้อนุมัติงบประมาณผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) แผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ แผนงานพัฒนาและจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสำรวจข้อมูลทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ การเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และพัฒนาโครงสร้างของระบบสารสนเทศเพื่อรองรับระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติที่จะมีขึ้น  ในอนาคต การเก็บข้อมูลทางอากาศด้านอุตุนิยมวิทยาในแนวดิ่งหรือ Vertical Profile เป็นข้อมูลหนึ่งที่สำคัญและประเทศไทย ในขณะนั้น ยังไม่มีสถานีตรวจวัดในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งโครงการ KU Tower นอกจากนี้เราต้องการ ผู้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ในหัวข้อนี้มารับผิดชอบดูแล และใช้ข้อมูลให้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป เนื่องจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่พร้อมด้วยองค์ความรู้และบุคลากรที่มีคุณภาพ ดังนั้น เราจึงพิจารณาเห็นควรให้มีการจัดสร้าง KU TOWER ไว้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สสน. กล่าวถึง การใช้ประโยชน์ จาก KU TOWER สู่การทำงานของ สสน. โครงการติดตามลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน และมลสารทางอากาศสำหรับประเทศไทย นับเป็นโครงการแรกในประเทศที่มีการเก็บตัวอย่างข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาตามโปรไฟล์ความสูง 5 ระดับ มีระดับความสูงสูงสุดถึง 110 เมตร และตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองของกรุงเทพมหานคร และยังมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่องานวิจัยในหลายมิติ อาทิ การคาดการณ์สภาพอากาศ คุณภาพอากาศในช่วงเวลาเร่งด่วน สสน. เป็นองค์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ระบบคลังข้อมูลน้าของประเทศ รวมถึงการคาดการณ์สภาพอากาศ ปัจจุบัน สสน. ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศในแนวดิ่งจาก KU TOWER เพื่อสอบเทียบความถูกต้องผลการคาดการณ์สภาพอากาศจากแบบจำลอง WRF-ROMS และใช้ข้อมูลตรวจวัดมลสารทางอากาศจากระบบลำเลียงอุปกรณ์เก็บตัวอย่างละอองฝุ่นในอากาศจากสถานีเสาสูงตรวจอากาศ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอากาศกับฝุ่นละอองใน เขตเมือง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความแม่นยำของผลการคาดการณ์สภาพอากาศของประเทศ ดังนั้น KU TOWER   เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของงานวิจัยด้านสภาพอากาศของประเทศสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวว่าในช่วงต้นปี 2562  ที่ผ่านมาในกรุงเทพมหานครได้เกิดสภาพฝุ่นละอองทางอากาศขนาดเล็ก PM 2.5 เกิดขึ้น ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากสถานีตรวจ วัดอุตุนิยมใกล้ผิวดินและคุณภาพอากาศ KU TOWER ที่รับมอบวันนี้ โดยให้คณะสิ่งแวดล้อมบูรณาการร่วมกับสำนักบริการคอมพิวเตอร์ ในการรายงานสภาพฝุ่นละอองทางอากาศภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แบบออนไลน์บนเว็บไซต์ www.ku.ac.th และเผยแพร่ข่าวสารทาง facebook : Kasetsart University ของมหาวิทยาลัยให้ประชาชนได้ติดตามรายงานสภาพอากาศได้อย่างใกล้ชิด เป็นต้น จากนั้นได้รับมอบ  KU TOWER จาก ดร.สุทัศน์ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated