เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล
การปลูกไม้มีค่าคึกคักทันตาเห็นหลังจากที่รัฐบาลปลดล็อคให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินของตนเอง จากเดิมที่ผิดกฎหมาย และยิ่งคึกคักเพิ่มขึ้นเมื่อธนาคาร ธ.ก.ส.เข้ามารับช่วงเรื่องการใช้ไม้มีค่าเป็นหลักทรัพย์ สามารถตีราคาเป็นมูลค่าเพิ่มจากที่ดิน…
ณ บริเวณ หมู่ 7 ตำบลจำปาหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เช้าวันนี้คึกคักมาเป็นพิเศษ เพราะได้มีพิธีการปลูกต้นไม้ขึ้นในชุมชม โดยมี นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธี ภายใต้ชื่อโครงการปลูกไม้มีค่าเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน “พอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยน้อมนำการปลูกป่า ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง องค์การบริหารส่วนตำบลจำปาหล่อ บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในนามของธนาคารต้นไม้ภาคกลาง…
การปลูกไม้มีค่าวันนี้ (30 พฤษภาคม 2562) ได้ปลูกขึ้นบนที่ดินของ นายธนิสร นิรันดร ชาวบ้านหมู่ 7 บนเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา โดย นายศิวกร นิรันดร (น้องชายนายธนิสร) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำปาหล่อ เปิดเผยว่า เดิมทีเดียว อบต.จำปาหล่อ มีนโยบายปลูกต้นไม่ในที่ดินสาธารณะอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เห็นว่าต้นไม้มีการเจริญเติบโตดี จึงเกิดความคิดว่าน่าจะขยายผลไปสู่ที่ดินของชาวบ้านในชุมชน จึงได้จัดทำโครงการขึ้นและมีชาวบ้านเข้าร่วมตอนนี้จำนวน 8 ราย รวมเนื้อที่ 53 ไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกไม้มีค่าให้ได้ จำนวน 9,999 ต้น
“ที่ปลูกไม้มีค่าวันนี้เป็นการปลูกบนที่ดินของพี่ชาย เรามีเป้าหมายว่าจะทำแปลงนี้ให้เป็นแปลงตัวอย่างของชุมชน ซึ่งหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ต้นไม้เหล่านี้จะเติบโตขึ้นมีมูลค่าต้นละ 2,000 บาท มันก็จะมีเงินเก็บไว้ให้ลูกหลาน แทนที่จะส่งมอบที่ดินว่างเปล่าให้พวกเขา และเกิดเป็นอาชีพแปรรูปไม้มีค่าในชุมชน หรืออย่างน้อยมันก็เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนเราน่าอยู่…” นายยก อบต.จำปาหล่อ กล่าว
ทางด้าน นายธนิสร นิรันดร เจ้าของแปลงปลูกไม้มีค่ากล่าวว่า เดิมพื้นที่ดินตรงนี้ทำนามาก่อน แต่มีปัญหาน้ำท่วมไม่ถึง จึงเปลี่ยนมาปลูกกล้วยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากระบบชลประทานเข้าไม่ถึง ทำให้น้ำไม่พอเพียง จึงหันมาปลูกไม้มีค่าในวันนี้ เพราะจากข้อมูลที่ศึกษาพบว่าไม่ต้องใช้น้ำมาก ยกเว้นในช่วงปีแรกตนเองจะนำถังน้ำและสายยางมาวางไว้ตามจุดต่างๆ จะต้องรดน้ำทุกวัน และการปลูกจะสลับระหว่างต้นไม้ใบใหญ่กับต้นไม้ใบเล็ก เพื่อให้แสงแดดส่องถึงโคนต้นทุกต้น โดยปลูกห่างต่อต้น 3×3 เมตร รวมต้นไม้ที่ปลูก 750 ต้น และระหว่างที่ต้นไม้ยังไม่โตจะปลูกพืชผักอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย
ส่วน นายกรสมรรถ เลาพิการนนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้แก่ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เกี่ยวกับไม้หวงห้าม และกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกกฎกระทรวงให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันได้
“กิจกรรมครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในตำบลจำปาหล่อ ร่วมกันปลูกต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ยางนา พยุง ตะเคียนทอง ต้นแดง ประดู่ป่า พะยอม ฯลฯ ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับชุมชน ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย พลังงาน เพิ่มพื้นที่ป่ารักษาระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมให้สมดุล ลดภาวะโลกร้อน เป็นทรัพย์สินเป็นเงินออม เป็นมรดกให้ลูกหลาน รวมทั้งสามารถนำมาเป็นหลักประกันทรัพย์ สิน สำหรับกู้เงินกับสถาบันการเงิน ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้”
นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธกส.จังหวัดอ่างทอง1 ยังกล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. จะให้การส่งเสริมปลูกไม้มีค่าตั้งแต่การอบรมปลูกไม้มีค่า รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องการเพาะขยายพันธุ์ไม้มีค่า ทั้งนี้เพื่อสร้างให้เกิดอาชีพใหม่ๆ และยังรวมไปถึงการนำไม้มีค่าไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายของ ธ.ก.ส. ที่มุ่งหวังให้เกษตรกรและชุมชนมีความมั่งคงในอาชีพต่อไป