อธิบดีประมงลงภูเก็ต ดันกุ้งมังกรเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ หลังตีตลาดท่องเที่ยวกระจุย
อธิบดี กรมประมง เตรียมตั้งธนาคารกุ้งมังกร และดันเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ หลังตีตลาดท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินมหาศาล

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมประมง นำโดย นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และ นายศิริพงษ์ พนาสนธิ์ ประมงจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ ณ บ้านท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตได้พูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้านถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวประมงพื้นบ้านจากการใช้มาตรการต่างๆ พร้อมติดตามการดำเนินการธนาคารปูม้าบ้านท่าฉัตรไชย และเยี่ยมชมการเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง และมอบพันธุ์กุ้งมังกร จำนวน 100,000 ตัว ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อนำไปปล่อยลงในแหล่งอนุรักษ์ ซึ่งภายในปีนี้ จะจัดตั้งธนาคารกุ้งมังกร และผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจของไทยในอนาคต

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ให้ข้อมูลหลังการลงพื้นที่ ณ บ้านท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของทางจังหวัดภูเก็ต ทั้งเรื่องของการดำเนินการธนาคารปูม้าบ้านท่าฉัตรไชย ซึ่งขณะนี้ทราบว่า มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ หลังดำเนินงานมา 2 ปีกว่า ชุมชนได้มีการติดตามสังเกต พบว่าปูม้าในบริเวณบ้านท่าฉัตรไชยที่จับได้ภายหลังการปล่อยลูกปูไปมีจำนวนมากขึ้น สัตว์น้ำมีความสมบูรณ์ขึ้น และยังได้รับทราบว่าจังหวัดภูเก็ต ยังมีธนาคารปูม้า ที่มีความเข้มแข็งแบบนี้อีก 3 แห่ง คือที่บ้านปากบาง บ้านแหลมทราย และบ้านบางโรง และมีแนวโน้มที่จะมีการขยายเพิ่มธนาคารปูม้าไปยังชุมชนประมงท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชังของเกษตรกรบ้านท่าฉัตรไชย ทำให้ทราบว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งที่มีการบริโภคกุ้งมังกรเจ็ดสีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีการนำเข้าจากต่างประเทศผ่านด่านศุลกากรภูเก็ตมากกว่า 5 พันกิโลกรัม/ปี มูลค่าสูงกว่า 18 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2560) กุ้งมังกรเจ็ดสีเป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากทั้งในตัวจังหวัดภูเก็ตเองและจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงกรุงเทพฯด้วย ถึงแม้ว่าจะมีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม อยู่ที่ราคาประมาณ 3,500 – 3,800 บาท/กิโลกรัม ดังนั้น จึงอยากจะผลักดันให้กุ้งมังกรเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย เริ่มต้นด้วยการสร้างให้มีลูกพันธุ์กุ้งมังกรที่พอเพียงต่อการนำมาเลี้ยงต่อในกระชัง ทำให้การเลี้ยงมีความต่อเนื่องในทางการตลาด รวมถึงมาตรการอนุรักษ์กุ้งมังกรในธรรมชาติด้วย โดยเบื้องต้นภายในปี 2562 นี้ เตรียมจัดตั้งธนาคารกุ้งมังกร ณ บริเวณบ้านท่าฉัตรไชย และบ้านป่าหล่าย เพื่อสร้างให้เป็นแหล่งกระจายลูกพันธุ์กุ้งมังกร ไปสู่ในธรรมชาติ โดยทางสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตได้มีการวางแผนจัดทำเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์กุ้งมังกรควบคู่ไปด้วยที่บริเวณเกาะทะนาน อำเภอเมือง และเกาะงำ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตดันกุ้งมังกรเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนชุมชนประมงท้องถิ่น ของจังหวัดภูเก็ต จำนวน 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าฉัตรไชย  ชุมชนบ้านบางโรง ชุมชนบ้านปากบาง ชุมชนบ้านป่าหล่าย ชุมชนบ้านราไวย์ ชุมชนบ้านบางเทา ชุมชนบ้านรายัน ชุมชนบ้านแหลมหลา ชุมชนบ้านแหลมหิน ชุมชนบ้านด่านหยิก เกี่ยวกับการทำประมงพื้นบ้านที่ชุมชนได้รับ หลังจากที่ทางภาครัฐได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ซึ่งพบว่าชาวประมงพื้นบ้านต่างพอใจกับผลผลิตที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด สัตว์น้ำที่เคยหายไปก็มีกลับมา สัตว์น้ำที่เคยจับได้น้อยก็กลับมาจับได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านดีขึ้น อีกทั้ง ชาวประมงพื้นบ้านยังชื่นชมถึงแนวทางการบริหารจัดการการทำประมงของประเทศไทยเพื่อให้เกิดยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำอีกด้วยดันกุ้งมังกรเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่

ภายหลังการพูดคุย อธิบดีกรมประมง ยังได้มอบพันธุ์กุ้งมังกร จำนวน 100,000 ตัว ให้กับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้านชุมชนบ้านป่าหล่าย เพื่อนำไปปล่อยลงในแหล่งอนุรักษ์พันธุ์กุ้งมังกร ที่บริเวณเกาะทะนาน บ้านป่าหล่าย อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งได้ร่วมกันปล่อยลูกปูม้า จำนวน 500,000 ตัว ลงสู่ทะเลด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated