มกอช.เร่งกู้วิกฤติเกลือทะเลไทย หนุนเกษตรกรทำนาเกลือระบบGAP มุ่งยกระดับการผลิตได้มาตรฐาน คุณภาพระดับสากล หวังแก้ปัญหาราคาตกต่ำ -ลดนำเข้า เพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ตามที่ยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย พ.ศ. 2560-พ.ศ. 2564 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเกลือทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพื่อให้เกลือทะเลมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาเกษตรกรเกลือทะเล เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเกลือทะเลไทยเพื่อให้เกลือทะเลมีช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อยกระดับราคาเกลือทะเลให้มีเสถียรภาพรวมทั้งให้มีการบริหารจัดการระบบนิเวศเพื่อการทำนาเกลือมีพื้นที่อย่างเหมาะสม และมีการบริหารจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว มกอช.ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับเกลือทะเลขึ้นมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือ (มกษ. 9055-2562) รวมทั้งได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับการทำนาเกลือทะเล(มกษ. 9055-2562)ขึ้น เพื่ออบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้ตรวจประเมินให้มีทักษะและศักยภาพด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าเกลือทะเลของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการยกระดับศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ
นางสาวจูอะดี กล่าวถึงสถานการณ์ผลิตและการตลาดเกลือทะเลไทยในปัจจุบันด้วยว่า ปัจจุบันการทำนาเกลือทะเลเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ ประเทศไทยการทำนาเกลือเป็นอาชีพดังเดิมมีตั้งแต่โบราณ มีเกษตรกร 1,200 ครัวเรือนมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 84,485 ไร่ โดยแบ่งแหล่งผลิตที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่มีการผลิตมาก ประมาณร้อยละ 90.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 3 จังหวัดภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงครามและกลุ่มที่มีการผลิตเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี โดยในแต่ละปีจะมีผลผลิตเกลือทะเลประมาณเกือบ 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท
ด้านนางสาวนลินทิพย์ เพณี ผอ.กองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช.กล่าวเพิ่มเติมว่า เกลือทะเลเป็นอาหารธรรมชาติ ที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จำเป็นต้องใช้เกลือเพื่อการบริโภคและอุปโภค ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร และใช้เป็นยารักษาโรค การทำนาเกลือ ถือเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาและประสบการณ์ ร่วมกับการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ปัจจุบันเกลือสมุทรหรือเกลือทะเล ถูกกำหนดให้เป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้นและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ให้การทำนาเกลือนับเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเกษตรกรรม แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรนาเกลือทะเลประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะคุณภาพการผลิตส่งผลให้ราคามีความผันผวนเป็นประจำทุกปี
ดังนั้น มกอช.จึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบGAP เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานเกลือไทยสู่ระบบสากลให้เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมอาหารและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยมีคู่แข่งคือประเทศอินเดีย ดังนั้นมกอช.จึงต้องเร่งผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพื่อการันตีให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในประเทศมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรไทยและลดการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศไปในตัว โดยต่อไปนี้มกอช.จะเร่งเดินหน้าในการเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรนาเกลือเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ในทุกจังหวัด ดังนั้นเมื่อเริ่มมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของเกลือก็จะต้องมีการตรวจสอบรับรอง ซึ่งเหลือทะเลแตกต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆเพราะมี 3หน่วยงานดูแล คือกรมวิชาการเกษตร กรมประมงและกรมปศุสัตว์ รวมทั้งผู้ตรวจรับรองเอกชน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรฐานกลางให้ 4หน่วยงานปฏิบัติ
ด้าน น.ส.เกตุแก้ว สำเภาทอง เกษตรกรนาเกลือทะเลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าเกลือจากประเทศอินเดียจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาเกลือทะเลที่เกษตรกรชาวนาเกลือผลิภายในประเทศมีราคาตกต่ำอย่างหนัก จากต้นปีราคาเกลือทะเลราคากิโลกรัมละ 2.00-3.00บาทเหลือราคากิโลกรัมละไม่ถึง 1.00 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลืออย่างหนัก เนื่องจากขาดทุนสะสม จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว โดยข้อมูลการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ พบว่าปี 2560 มีการนำเข้าเกลือ 151,480 ตัน 216 ล้านบาทเศษ ปี 2561 มีการนำเข้าเกลือ 328,883ตัน 437 ล้านบาทเศษ ปี 2562 (เดือนมีนาคม) มีการนำเข้าเกลือ 100,819 ตัน 120 ล้านบาทเศษ และรหัสพิกัดการนำเข้าอยู่ที่หมวด 25 ซึ่งเป็นหมวดของการนำเข้าสินแร่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของชาวนาเกลือมาตรฐานจะมีปัญหา 3 อย่าง คือ 1.เรืองฟ้าฝน 2.สภาพอากาศ และ 3.เรืองคุณภาพ แต่ที่ผ่านมาการทำนาเกลือทะเลยังขาดมาตรฐานควบคุมคุณภาพการผลิตถ้ามีการจัดการที่ดีทำให้แก้ปัญหาได้ และเกลือที่ผ่านมาไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้กระทบต่อการทำตลาดในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมาก การที่มกอช.เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาเหลือระบบ GAP จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานเกลือไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดอย่างกว้างขวางมากขึ้น