นางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ หมอพืชและผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนธุรกิจ ซินเจนทา ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากกรมวิชาการเกษตรได้จัดอบรมวิทยากร (ครู ข) หลักสูตร “การใช้วัตถุอันตราย 3 สาร ให้ถูกต้องและปลอดภัย” เพื่อให้ครู ข ลงพื้นที่อบรมเกษตรกรทั่วประเทศ 1.5 ล้านคนในการได้รับสิทธิ์ซื้อสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยบริษัท ซินเจนทา ครอปโปรเทคชั่น จำกัด บริษัทชั้นนำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรและอาหาร ได้ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้กับเกษตรกรมาโดยตลอด จึงได้นำพนักงานเกือบ 100 คน เข้ารับการอบรมการเป็นวิทยากรครู ข กระทั่งผ่านการอบรมเป็นวิทยากรได้สำเร็จ
วิทยากรของซินเจนทา ได้ลงพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ อบรมเกษตรกรตามาตรการจำกัดการใช้ สำหรับผู้ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม้ผล ตลอดเดือนที่ผ่านมา มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้ารวมแล้วกว่า 5,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับทราบข่าวสารมาบ้างแล้วว่าต่อไปจะต้องมีการขึ้นทะเบียน เข้ารับการอบรม และทดสอบ เพื่อได้รับสิทธิ์ในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ระยะแรกนี้จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบ และปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยบริษัทฯ จะเร่งสร้างความเข้าใจและอบรมการใช้สารฯ ให้กับเกษตรกรในพืชอื่น ๆ เช่น อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมันในลำดับต่อไป
นอกจากการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรการจำกัดการใช้ฯ กับกลุ่มเกษตรกรแล้ว เนื่องจากปัจจุบันได้มีการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดข้าวโพด (Fall army worm) ในข้าวโพดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย บริษัทจึงได้มีมาตรการเร่งด่วนลงให้ความรู้เรื่องการจัดการหนอนกระทู้ลายจุดข้าวโพด (Fall army worm) ให้กับเกษตรกร และร้านค้าผู้แทนจำหน่าย ในพื้นที่ ลพบุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว นครราชสีมา เพื่อให้ร้านค้า และเกษตรกรมีความรู้ในการควบคุมโดยใช้วิธีการหลากหลายวิธี และถ้าหากต้องใช้สารเคมี ต้องมีการใช้อย่างถูกต้องไม่เกิดปัญหาความต้านทาน
นางสาววัชรีภรณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า หลังจากที่เกษตรกรได้รับการอบรมในครั้งนี้ไปแล้ว เชื่อว่าเกษตรกรจะนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารฯ ไปเข้ารับการสอบ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการซื้อและสามารถใช้สารฯ ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้วางแผนลงพื้นที่อบรมเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยกระทรวงเกษตรฯ อบรมเกษตรกร จำนวน 150,000 คน โดยซินเจนทาจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กลุ่มโรงงานน้ำตาล สมาพันธ์ชาวสวนปาล์ม สมาคมชาวสวนยาง กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน กลุ่มผู้รับซื้อพืชอาหารสัตว์ เพื่อหารือและวางกรอบแนวทางร่วมกันในการอบรมเกษตรกร และเร็วๆนี้ ซินเจนทาจะได้นำเทคโนโลยีแบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อให้สามารถขยายขีดความสามารถในการอบรมเกษตรกรได้คราวละจำนวนมาก ซินเจนทาตระหนักถึงหน้าที่และจรรยาบรรณในการดูแลผลิตภัณฑ์ หรือ Product stewardship ด้วยความรับผิดชอบมาอย่างยาวนานมากกว่า 30 ปี ตามที่เราได้ให้คำมั่นสัญญาต่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ