กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนางานยุวเกษตรกร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสายเลือดใหม่ของเกษตรกรไทยให้สามารถสืบทอดอาชีพทางการเกษตร โดยในปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดงาน ‘ชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษายุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2562’ เพื่อเปิดโอกาสให้ยุวเกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน กลายเป็นกิจกรรมนิทรรศการความรู้จากผลสำเร็จของการดำเนินงานยุวเกษตรกรที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ที่พบเห็น
ความสำเร็จของยุวเกษตรกรไทย ผลงานเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
เป็นเวลา 66 ปี มาแล้วที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนที่มีความสนใจในการประกอบอาชีพเกษตรให้มีความรู้และความพร้อม เพื่อพัฒนาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัวในฐานะพลังใหม่ของภาคการเกษตรไทย ในวันที่ 22 – 26 กรกฎาคม 2562 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษายุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2562 ขึ้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และโรงเรียนทหารการสัตว์ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเกษตรกรรุ่นใหม่ สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการ การปฏิบัติลงมือ และการนำเสนอผลงานที่โดดเด่น สร้างความเข้มแข็งและสามัคคีแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ ผนึกกำลังกลายเป็นเครือข่ายยุวเกษตรกร ทั้งเป็นการประสานความร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรอิสระ เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานด้านเยาวชนเกษตรของไทย
ถ่านชีวภาพไบโอซาร์ พัฒนาดิน พัฒนาคน
กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการบินไทย จังหวัดสระแก้ว ได้ใช้อาคารเกษตรสิริสุข ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรก่อสร้างขึ้นในการจัดการผลผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปถนอมอาหารภายในโรงเรียน ต่อยอดขยายผลความรู้สู่ชุมชนโดยการเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติงาน ที่โดดเด่นคือการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า โดยผลิตเป็นถ่านชีวภาพไบโอซาร์จากเศษวัสดุที่มีภายในโรงเรียน โดยถ่านชีวภาพไบโอชาร์จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินในกักเก็บน้ำ ธาตุอาหาร อากาศ และเป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์กับพืช ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้
เส้นใยกัญชง ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สินค้าเอกลักษณ์ประจำเผ่าม้ง
ด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก่อให้เกิดแปลงเรียนรู้การปลูกกัญชงในกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนบ้านเพียงหลวง 16 ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จังหวัดเชียงราย เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดความรู้ในการนำเส้นใยกัญชงมาพัฒนาและแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าของชุมชนที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมวก พวงกุญแจ และกล่องใส่ทิชชู่
ให้กลายเป็นอาชีพ สินค้าดีมีคุณภาพโดยยุวเกษตรกร
การส่งเสริมและพัฒนาการแปรรูปสินค้าให้กลายเป็นอาชีพ นับเป็นผลงานนำเสนอที่น่าสนใจของกลุ่มยุวเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ‘Hug And Hug Lamphun’ ของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 จังหวัดลำพูน ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย หรือ ‘@เขาน้อย’ ของกลุ่มกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิดแถมยังคุณภาพดี ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น ไม้ประดับ (เฟิร์นสาย บีโกเนีย) ขนมคัพเค้กทุเรียน เห็ดสามรส และน้ำพริกเห็ด ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและกลายเป็นอาชีพของเยาวชนและชุมชนรอบข้างได้
โคกหนองนาโมเดล โมเดลต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง
เพราะยังเยาว์ การศึกษาจากต้นแบบที่ดีจึงเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนดอนสีนวน (สำนักงานสลากกินแบ่งสงเคราะห์ 523) จังหวัดชัยนาท ดำเนินกิจกรรมยุวเกษตรกรยึดหลักศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยเรียนรู้จาก ‘โคกหนองนาโมเดล’ โมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างฝายชะลอน้ำ คลองไส้ไก่ หญ้าแฝก ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง การทำนา การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ธนาคารน้ำใต้ดิน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เปิดโอกาสให้ชุมชนรอบข้างเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการมาให้ความรู้เรื่องการทำนาให้กับโรงเรียน เป็นต้น
รักษ์ธรรมชาติ พัฒนาสิ่งแวดล้อม
การส่งเสริมให้มีสุขภาพที่แข็งแรงคือหนึ่งใน 4 ด้านของการพัฒนายุวเกษตรกร การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดเสียมิได้ โดยกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนวัดเทพประสิทธิ์คณาวาส จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำกิจกรรม ‘คลองสวยน้ำใสกำจัดวัชพืชผักตบชวา’ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งผักตบชวาที่เก็บยังสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าในการนำมาทำดินผสมพร้อมปลูกได้อีกด้วย
ยุวเกษตรกร พลังใหม่ที่พร้อมส่งต่อ
การดำเนินการส่งเสริมยุวเกษตรกรไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาเยาวชนเท่านั้น เพราะครอบครัวและชุมชนรอบข้างต่างก็ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่นกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านนิบง จังหวัดยะลา ซึ่งสมาชิกยุวเกษตรกรปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างในการทำการเกษตรให้กับเด็กคนอื่นๆ จนเกิดใจรักในการทำการเกษตร สามารถเติบโตอย่างมีคุณค่า มีความรู้และอาชีพติดตัว หรือแม้แต่กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง 13 (ประชาบำรุง) จังหวัดหนองคาย ที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนจนทำให้เกิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ยุวเกษตรกรและคนในชุมชนฝึกปฏิบัติและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในด้านการทำเกษตร สามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต่อไป
นิทรรศการทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานความสำเร็จของยุวเกษตรกรที่มีใจรักในการเกษตร เป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะพัฒนาการเกษตรของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงสืบต่อไป