การเลี้ยงปลานิลในกระชัง ฟังดูมันก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไร แต่ปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ทีมงาน “เกษตรก้าวไกล” ขออาสาติดตามกรมประมง และเพื่อนๆสื่อมวลชนล่องเรือไปดูถึงขอบกระชังที่เลี้ยงปลานิลกันเลยทีเดียว เราได้พบกับ นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ซึ่งได้กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปลานิลในกระชัง ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” พบว่า เกษตรกรมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก จากที่เริ่มแบบต่างคนต่างเลี้ยง จนมารวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน และพัฒนามาตั้งเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำป่าว จำกัด ทำให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้จากหน่วยงานภาครัฐในด้านการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ซึ่งขณะนี้ทราบว่า การดำเนินของสหกรณ์เมื่อปีที่แล้วมีกำไร 4 ล้าน ปีนี้น่าจะ 8 ล้านบาท ต่อไปน่าจะได้ปีละ 10 ล้านบาทล่องเรือชมเลี้ยงปลานิลในกระชัง จ.กาฬสินธุ์

“การทำเกษตรแปลงใหญ่เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ทำให้สามารถลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต และการตลาดนำการผลิต คือมีอำนาจในการต่อรองเช่น เวลาซื้ออาหารปลา ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก 80% เมื่อซื้อปริมาณมาก ในจำนวนที่ชัดเจน ก็ทำให้ต่อรองราคาลดลงได้ หรืออย่างการตลาดที่บริหารจัดการให้สามารถจับปลาได้ทุกวัน ซึ่งทำให้สามารถส่งขายห้างโมเดิร์นเทรดได้ จากเดิมที่ต่างคนต่างขายก็ทำให้มีราคาขายเพิ่มขึ้น เพราะมีตลาดที่ชัดเจน และขณะนี้ชาวเกษตรกรยังได้ทำการแปรรูปเป็นอาหารเมนูต่างๆก็เป็นทางออกหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตอีกด้วย” รองอธิบดี กรมประมง กล่าว

นายราชิตร์ แก่นทอง ผู้จัดการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่(เลี้ยงปลานิลในกระชัง)จังหวัดกาฬสินธุ์
นายราชิตร์ แก่นทอง ผู้จัดการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่(เลี้ยงปลานิลในกระชัง)จังหวัดกาฬสินธุ์

ด้านนายราชิตร์ แก่นทอง ผู้จัดการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่(เลี้ยงปลานิลในกระชัง)จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมทีเกษตรกรที่อยู่บริเวณท่าเรือภูสิงห์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ มีการเลี้ยงปลานิลในกระชังในรูปแบบของต่างคนต่างเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจากการทำไร่มันสำปะหลัง และไร่อ้อย แต่ปัจจุบันได้หันมาทำเป็นอาชีพหลัก เพราะรายได้ดีกว่า โดยในปี 2559 มีการรวมกลุ่มเกษตรกรให้อยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาเป็นสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรวมกลุ่ม การแปรรูป การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม GAP และการตลาด

ปลานิลที่เลี้ยงเฉลี่ยน้ำหนักตัวละ 1 กิโลกรัม
ปลานิลที่เลี้ยงเฉลี่ยน้ำหนักตัวละ 1 กิโลกรัม

จากการดำเนินตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 4 แปลง ประกอบด้วย ปี 2559 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 67 ไร่ เกษตรกร 230 ราย และ ปี 2561 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 155 ราย

“ตอนที่เราเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยงต้องประสบปัญหากับพ่อค้าคนกลากดราคา การเลี้ยงปลานิลในกระชังจะมีกำไรราวกระชังละไม่เกิน 3,000 บาท แต่หลังมีการรวมกลุ่มและตั้งสหกรณ์แล้วจะมีกำไรกระชังละ 7,000-8,000 บาท เกษตรกรแต่ละรายที่รวมกลุ่มเฉลี่ยรายละ 20 กระชัง จะมีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 3 แสนบาท ปลาที่ไม่ได้ขนาดมาแปรรูปมาเป็นไส้อั่ว ปลาร้า เป็นต้น จึงขอให้เกษตรกรหันมารวมกลุ่มกัน เพราะมีอำนาจต่อรองมากกว่า” นายราชิตร์ กล่าว

นายเมธี อำไพทิศ (ซ้าย) ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำป่าว จำกัด
นายเมธี อำไพทิศ (ซ้าย) ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำป่าว จำกัด

ขณะที่ นายเมธี อำไพทิศ ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำป่าว จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ จำนวน 52 ราย ทางสหกรณ์จะประกันราคาให้ กก.ละ 58 บาท จากเดิมที่พ่อค้าคนกลางซื้อในราคา กก.ละ 48-58 บาท และสหกรณ์นำขายต่อที่ตลาดบริเวณจังหวัดใกล้เคียงและห้างโมเดิร์นเทรดเฉลี่ยวันละ 7.5  ตัน เกษตรกรจะมีรายได้เฉพาะกลุ่มนี้เดือนละ 18 ล้านบาท

กำลังลากอวนกระชังปลาเพื่อจับปลานิล....
กำลังลากอวนกระชังปลาเพื่อจับปลานิล….

ในส่วนของการเลี้ยงปลานิลในกระชังให้ประสบความสำเร็จ “เกษตรก้าวไกล” ได้มีโอกาสพูดคุยกันเกษตรกรผู้เลี้ยงตัวจริงตรงริมกระชังที่เลี้ยงปลานิลกลางเขื่อนน้ำปาว บอกว่านอกจากน้ำดี(น้ำเขื่อนลำปาว)แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลานิลเติบโตแข็งแรงดีคือ “ลมดี” หมายถึงมีอากาศถ่ายเทนั่นเอง (รายละเอียดการสัมภาษณ์เกษตรกรของให้ชมจากคลิปวิดีโอข้างต้น ซึ่งจะอยู่ในช่วงท้ายๆ)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated