ปัตตานี-วันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ ท่าเทียบเรือประมง องค์การสะพานปลา จังหวัดปัตตานี นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อร่วมงานเปิดตัวเรือประมงอวนล้อมจับลำแรกที่เข้าร่วม โครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการใช้แรงงานบนเรือประมงอวนล้อมจับ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมง ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีฟเดค) สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานีและเจ้าของเรือที่เข้าร่วมโครงการ (คุณสุรัตน์ รัตนศิธร) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังภาคประมงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานขั้นวิกฤต โดยมี ดร.พงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้การต้อนรับ
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นการเร่งด่วน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการแรงงานภาคประมงกว่า 30,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงภัยสูง แรงงานในกิจการประมงทะเลจึงมีจำนวนน้อย กรมประมง ซีฟเดค สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี และเจ้าของเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ จึงได้ร่วมมือกันหาแนวทางในการลดการใช้แรงงานบนเรือประมงอวนล้อมจับ และลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงเครื่องมือในการทำประมง บนพื้นฐานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในทะเล
โดยล่าสุดได้มีการนำร่องทดลองใช้เครื่องกลทุ่นแรงบนเรือประมงอวนล้อมจับที่ชื่อว่า น.ลาภประเสริฐ 8 เป็นลำแรก ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาด 91.71 ตันกรอส ทำการประมงในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย โดยปกติต้องใช้แรงงานในการทำประมงจำนวนมากถึง 30 คน/ลำ/เที่ยว แต่เมื่อได้นำเครื่องกลทุ่นแรงในการทำประมงอวนล้อมจับระบบไฮดรอลิกส์ เช่น เครน และ Powerblock สำหรับผ่อนแรงในการกู้เก็บอวน รวมถึงระบบทำความเย็นสำหรับการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำมาใช้ ผลปรากฏว่า สามารถลดแรงงานในการทำประมงลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าจ้างแรงงานได้จำนวนมาก และในกรณีที่ใช้แรงงานต่างชาติยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาคุณภาพความสดของสัตว์น้ำจนถึงผู้บริโภค จำหน่ายได้ราคาดี รวมทั้งยังประหยัดต้นทุนการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำได้ถึง 50% เลยทีเดียว
ด้าน นายคมน์ ศิลปาจารย์ เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีฟเดค) กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เทคโนโลยีเครื่องกลทุ่นแรงสำหรับทดแทนแรงงานคน และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมงอวนล้อมจับ เป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงเรือประมงพาณิชย์ของไทยให้มีความทันสมัยขึ้น ตอบโจทย์การช่วยเหลือผู้ประกอบการจากปัญหาต่าง ๆ อาทิ ปัญหาแรงงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ สุขอนามัยบนเรือ คุณภาพความสดของสัตว์น้ำ และต้นทุนในการทำประมง เป็นต้น ซึ่งซีฟเดคได้แนวคิดของรูปแบบเรือประมงสมัยใหม่ที่ใช้กันในต่างประเทศเป็นต้นแบบมาเพื่อพัฒนา โดยนำอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีในท้องตลาดของไทย อาทิเช่น เครน อุปกรณ์ไฮโดรลิคส์ Powerblock และระบบเครื่องทำความเย็น มาประยุกต์ใช้ติดตั้งให้เหมาะสมกับการทำประมงบนเรืออวนล้อมจับ ซึ่งมีความเป็นจำเป็นในการใช้แรงงานคนมากกว่าเรือประมงประเภทอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การนำร่องติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวบน เรือ น.ลาภประเสริฐ 8 นี้ ซีฟเดคยังได้ร่วมกับกรมประมง สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี และเจ้าของเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ ศึกษารวบรวมข้อมูลเชิงสถิติการทำประมงในแต่ละครั้ง เพื่อนำไปวิเคราะห์หาความคุ้มค่าในการทำประมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการประมงลำอื่น ๆ ที่สนใจจะปรับปรุงเรือในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ สำหรับต้นทุนในการปรับปรุงเรือลำดังกล่าวได้ใช้งบประมาณภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japanese trust fund 2018) กว่า 1 ล้านบาท และเจ้าของเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกกว่า 1 ล้านบาท
อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่เมื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในด้านต่าง ๆ เชื่อว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนในระยะยาวได้อย่างแน่นอน จึงนับเป็นโอกาสและทางเลือกของผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป
และในวันเดียวกันนี้ อธิบดีกรมประมง ยังได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยัง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เพื่อชมวิถีการทำประมงพื้นบ้านที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยสนับสนุนการทำประมงเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นระบบ อาทิ การจัดทำธนาคารปูม้า การสร้างเขตอนุรักษ์ทรัพยากร และการห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือที่ผิดกฎหมายทุกชนิด เพื่อสร้างความมั่นคงให้ทรัพยากรได้มีกินมีใช้อย่างยั่งยืน
ปิดท้ายด้วยการไปเยี่ยมชม กลุ่มวิสาหกิจชุมชมโอรังปันตัย บ้านตันหยงเปาว์ ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งสมาชิกเป็นชาวประมงพื้นบ้านที่ประสบความสำเร็จในการนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูป โดยเฉพาะ ปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาหมึกเค็ม กุ้งแก้ว ฯลฯ นอกจากนี้ยังนั่งล้อมวงจับเข่าคุยกับกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆที่จะนำไปสู่การแก้ไขร่วมกันต่อไป