บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมมือปศุสัตว์จังหวัด เดินสายให้ความรู้การป้องกัน โรค ASF ในสุกร แก่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่จังหวัดยโสธร พร้อมทั้งจัดอบรมต่อเนื่องให้กับเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ นครนายก และอ่างทอง ช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกว่า 3,000 คนในกว่า 20 จังหวัดรู้ทัน และเข้าใจการป้องกันโรค
นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า การป้องกันโรค ASF ในสุกรเป็นวาระแห่งชาติที่่ต้องระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนป้องกันโรค ASF ในสุกร แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคในประเทศไทย การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในจังหวัดยโสธร จะช่วยสร้างความตื่นตัวให้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญมีความพร้อมในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง
น.สพ.ปัญญา มูลคำกาเจริญ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้และเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ไม่ติดต่อหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์อื่น ผู้บริโภคสามารถรับประทานหมูได้อย่างปลอดภัย 100 % ปศุสัตว์จังหวัดบูรณาการทำงานกับภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการป้องกันโรค การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรรายย่อยได้มีความรู้ความเข้าใจโรคนี้มากขึ้น และนำไปสู่การยกระดับการป้องกันโรคในฟาร์มเกษตรกรที่ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในระบบเปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การอบรมให้ความรู้เกษตรกรรายย่อยยังนำไปสู่การตั้งกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในการแจ้งข่าวสาร และช่วยเตรียมความพร้อมเกษตรกรช่วยยกระดับการป้องกันโรคอย่างมีเอกภาพ” น.สพ. ปัญญากล่าว
น.สพ.จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ สมาคมผู้เลี้ยงสุกร และบริษัทเวชภัณฑ์คู่ค้า มาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจโรค ASF และแนวทางการป้องกันโรคแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และร่วมกับปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งมอบน้ำยาฆ่าเชื้อ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันโรค จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการอบรมทั้งในระดับจังหวัด 20 จังหวัด และให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงรายย่อยถึงที่บ้านรวม 38 จังหวัด สามารถช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้กว่า 3,000 ราย
“บริษัทฯ ร่วมกับปศุสัตว์ในพื้นที่เดินหน้าให้ความรู้การป้องกันโรคแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับจังหวัด และระดับชุมชน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเร่งดำเนินการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากเป็นอันดับแรก” น.สพ.จตุรงค์ กล่าว
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟยังได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง ศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ 2 แห่ง ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และที่จังหวัดมุกดาหาร รวมเป็นมูลค่าเกือบ 4 ล้านบาท ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในการป้องกันโรคตามแนวชายแดนใน 5 จังหวัดได้แก่ เชียงราย มุกดาหาร นครพนม สระแก้ว และหนองคาย
บริษัทฯ ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งยกระดับการป้องกันในฟาร์มระบบปิดที่มีระบบการป้องกันโรคให้เข้มข้นยิ่งขึ้น อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัททุกรายและเพิ่มการซ้อมแผนฉุกเฉินในฟาร์มเพื่อเตรียมความพร้อมต่อเนื่อง