สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและผู้เกี่ยวข้อง วางแผนรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในฤดูกาลปลูกข้าวโพดรอบถัดไปที่จะมาถึง ย้ำการจัดการแบบองค์รวมตามหลักวิชาการที่ใช้ร่วมกันทั้งชีวภัณฑ์ สารเคมีชนิดและอัตราที่แนะนำด้วยหลัก 3 ถูก ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธี ร่วมกับการใช้ชีววิธี จะเป็นวิธีที่ได้ผลและควบคุมได้
ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า “จากรายงานของกรมวิชาการเกษตรที่ประมาณการพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศไทยไว้มากกว่า 6.87 ล้านไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตกว่า 4.62 ล้านตันในปีนี้ ถ้าหากเราไม่เร่งกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เราอาจสูญเสียผลผลิตมากถึง 25 – 40 % คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4 – 8 พันล้านบาท ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายในการกำจัดต่อไร่อยู่ที่ 200 – 400 บาท ฉะนั้นต้นทุนการผลิตโดยรวมของผลผลิตก็อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 800 – 1,602 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นสมาคมฯ จึงเร่งจัดการอบรม ติดอาวุธทางความรู้แบบยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ และแบ่งเบาภาระภาครัฐ ซึ่งเราตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรโดยตรงและผ่านภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กว่า 5,000 คน ภายในฤดูกาลนี้”
ปลายปี 2561 ได้เกิดการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดครั้งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดกว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 50 จังหวัดในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อป้องกัน และจัดการกับหนอนกระทู้ลายจุดอย่างยั่งยืน สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย จึงต้องนำองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยต่าง ๆ มาเผยแพร่ และจัดการอบรม
“ทั้งนี้ พฤติของกรรมเกษตรกรในบ้านเราที่ส่วนใหญ่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดไหนดีก็จะใช้ตลอด ใช้ซ้ำ ๆ อยู่ชนิดเดียวทั้งด้วยความมั่นใจที่ใช้แล้วได้ผลดี หรือความที่ไม่รู้ถึงปัญหาในการดื้อยาของแมลงศัตรูพืช การจัดการรับมือกับหนอนกระทู้ลายจุดที่ล้มเหลว เกิดมาจากการจัดการที่ผิดวิธี ผิดที่ และผิดเวลา ตลอดจนหนอนตัวนี้ดื้อยาเร็วดังนั้นต้องจัดการด้วยหลายวิธีร่วมกัน สมาคมฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยปณิธานในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรก้าวหน้ามายกระดับเกษตรกรรมไทยให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่ก้าวล้ำและถูกต้องให้เกษตรกรไทยและผู้เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องร่วมผนึกกำลังกับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดการกับศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้ข้าวโพดให้ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทย ยังครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับหนึ่งของโลก และให้บรรลุเป้าผลผลิตข้าวโพดอันเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ” ดร.วรณิกา สรุป