ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เข้าดูแลพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ถูกบุกรุกอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำมาจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) แล้ว ส.ป.ก. ยังมีภารกิจในการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ให้มีความพร้อมสำหรับการอยู่อาศัยและการทำการเกษตร โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมขนส่งในแปลงเกษตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรในการขนย้ายผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรไปแล้ว 7 จังหวัด
โดยพื้นที่ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของ ส.ป.ก. มีเนื้อที่ 972 ไร่ โดยที่ดินนี้ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ซึ่ง ส.ป.ก.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการทำงานแบบบูรณาการหลายหน่วยงานระหว่างภาครัฐ อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) รวมไปถึงภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่
สำหรับผลการดำเนินการที่ผ่านมาได้ออกแบบวางผังพื้นที่โครงการไปแล้ว 2 แปลง ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับสิทธิ์เข้าทำประโยชน์จำนวนทั้งสิ้น 96 ราย มีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรไทรทอง จำกัด เพื่อขอใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินโดยยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งภายในแปลงได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ เช่น การขุดสระน้ำสาธารณะขนาดบรรจุ 1.2 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ จำนวน 1 แห่ง และถังพักน้ำ จำนวน 2 ถัง ขุดบ่อบาดาล การปรับปรุงถนนสายหลัก/สายซอยเพื่อเข้าแปลงเกษตรกรรม การก่อสร้างอาคารสำนักงานสหกรณ์จำนวน 1 หลัง รวมไปถึงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกร แบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ การลดรายจ่ายเพื่อเสริมความมั่นคงในด้านอาหารของครอบครัว การพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ระยะสัน เช่น การปลูกพืชผสมผสาน และการพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ระยะยาวเพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว อาทิ การปลูกกล้วยหอมทอง ด้วยระบบการตลาดนำการผลิต ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการค้าครบวงจรระหว่างสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด ซึ่งเข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการปลูกกล้วยหอมทอง พร้อมรับซื้อผลผลิตจากสหกรณ์การเกษตรไทรทอง จำกัด เพื่อทำตลาดส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีโกโก้ และพืชผัก ที่จะใช้ระบบตลาดนำการผลิตเช่นเดียวกับกล้วยหอมทอง
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีการดำเนินการโครงการสำรวจและออกแบบงานก่อสร้าง ถนนลูกรังสายซอยในแปลงชุมชนที่อยู่อาศัย แปลงที่ดินเลขที่ No 44 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผิวจราจรกว้าง 4 เมตร จำนวน 5 สาย ระยะทางรวม 2.096 กิโลเมตร ประกอบด้วย การก่อสร้างถนนลูกรังสายซอย สายที่ 1 ระยะทางรวม 0.187 กิโลเมตร การก่อสร้างถนนลูกรังสายซอย สายที่ 2 ระยะทางรวม 0.181 กิโลเมตร การก่อสร้างถนนลูกรังสายซอย สายที่ 3 ระยะทางรวม 0.700 กิโลเมตร การก่อสร้างถนนลูกรังสายซอย สายที่ 4 ระยะทางรวม 0.818 กิโลเมตร และการก่อสร้างถนนลูกรังสายซอย สายที่ 5 ระยะทางรวม 0.210 กิโลเมตร ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับที่ดินทำกินมีความสะดวกในการเดินทางเข้าไปอยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรม และสามารถเข้าทำประโยชน์ในแปลงที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ดร.วิณะโรจน์ กล่าวต่อถึงผลดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในพื้นที่ ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ในส่วนของแปลงใหญ่ที่อยู่ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น มีพื้นที่ดำเนินการในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฏร์ธานี (หมู่ที่ 8 ,หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 11 ) เนื้อที่ 500 ไร่เป็นพื้นที่ S1 ทั้งหมด ทุกแปลงอยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งได้รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่เมื่อปี 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 100 ราย Smart Farmer จำนวน 83 ราย โดยเน้นการปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นพืชประเภทหัวเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน ได้แก่ ขมิ้นชัน/ขมิ้นทอง/ขมิ้นอ้อย/ขมิ้นด้วง/ไพลดำ/ไพลเหลือง/กระชายดำ/ว่านชักมดลูก/ว่านมหาเมฆ/พญาว่าน/ว่านนางคำและตะไคร้ หลักจากการรวมกลุ่มกันได้ไม่นาน เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตในด้านพันธุ์ปลูกกลุ่มพืชสมุนไพร จากเดิมต้นทุนการผลิต 12,000 บาท/ไร่ เหลือเพียง 9,600 บาท/ไร่ ลดลงร้อยละ 20
ทั้งนี้ ผลผลิตสมุนไพรส่วนใหญ่จะส่งขายให้กับ ตลาดโพหวาย จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 3,000 ก.ก./เดือน ราคา 30-35 บาท ตลาดหัวอิฐ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 2,000 ก.ก./เดือน ราคา 30-35 บาท วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด และขายขมิ้นชันให้แก่โรงพยาบาลท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ปีละ 40 ตัน (กลุ่มเกษตรกรอยู่ระหว่างเจรจากับรพ.ท่าฉาง) นอกจากขายผลผลิตสมุนไพรสดแล้ว กลุ่มแปลงใหญ่ดังกล่าวยังแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ครีมนวดคลายเส้น ลูกประคบ สบู่ เป็นต้น สำหรับแผนต่อไปในอนาคตจะเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานแปลงปลูกสมุนไพรเข้าสู่ระบบ GAP จากนั้นก็วางแผนการผลิตให้ผลผลิตเพียงพอความต้องการของตลาด และส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน/บัญชีฟาร์ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร
จะเห็นได้ว่า ส.ป.ก. ไม่ได้มีหน้าที่เพียงจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรให้กับเกษตรกรเข้าทำประโยชน์เท่านั้น แต่ยังดูแลเกษตรกรหลังจากได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยการปรับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เส้นทางคมนาคม จัดสรรสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น และส่งเสริมอาชีพและการรวมกลุ่มสหกรณ์โดยอาศัยหลักการตลาดนำการผลิต ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีตลาดรองรับ เกษตรกรมีรายได้และสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ได้อย่างยั่งยืนต่อไป