กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดแผนพัฒนาอะโวคาโดเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ตั้งทีมบูรณาการฯแบบครบวงจรลุย หนุนเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูก พร้อมเปลี่ยนจากพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์ดี ชี้ตลาดต้องการสูงทั้งในและต่างประเทศ เผยปี 61 ไทยส่งออกได้เพียง 19 ตัน แต่ต้องนำเข้าถึง 762 ตัน
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า อะโวคาโด (Avocado) เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ ให้ผลผลิตเร็ว ให้ผลผลิตดก มีความหลากหลายของพันธุ์ ทำให้มีผลผลิตกระจายครอบคลุมตลอดทั้งปีเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้ค่าพลังงานสูงแต่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ จึงเป็นที่นิยม มีปริมาณความต้องการสูงทั้งตลาดภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี
“ปัจจุบันตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูง โดยในปี 2561 มีการนำเข้าถึง 762 ตัน มูลค่า 154,399,344 บาท ขณะที่การส่งออก ประเทศไทยสามารถส่งออกเพียง 19 ตันในปี 2561 มูลค่า 763,607บาทขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำเข้า คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 จึงนับเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมให้อะโวคาโดเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ พร้อมผลักดันให้อะโวคาโด เป็นพันธุ์พืช GI ของจังหวัดตาก ผ่านศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง)”
สำหรับในเขตอำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีเกษตรกรให้ความสนใจและปลูกอะโวคาโดกันมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 1,369 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 800-1,200 ตันต่อปี สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกคิดเป็นมูลค่า 12-18 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตที่ได้นี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่สำคัญอีกประการเกษตรกรประสบกับปัญหาผลผลิตมีคุณภาพต่ำเนื่องจากการผลิตและการเก็บเกี่ยวที่ไม่ถูกต้องและพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกหลักอยู่ในเขตอุทยานต้นน้ำชั้นที่หนึ่ง ไม่สามารถขยายพื้นผลิตที่ได้
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ เกษตรจังหวัดตาก กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดตาก จัดตั้งทีมบูรณาการโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อผลิตอะโวคาโดแบบครบวงจร อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตแบบมืออาชีพแก่เกษตรกรและผู้สนใจ กว่า 4,000 ราย รวมถึงการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนจากพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์ดี 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เพิ่มพื้นที่พันธุ์ดีเป็น 426 ไร่ ประมาณการผลผลิต 20 ตัน มูลค่า 7 ล้านบาท คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพการผลิต ขณะเดียวกันได้จัดทำแปลงสาธิตและรวบรวมพันธุ์อะโวคาโดในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) รวม 34 พันธุ์ ประกอบด้วยพันธุ์การค้ามาตรฐาน 20 สายพันธุ์ พันธุ์ทดสอบศักยภาพทางด้านการตลาด 10 สายพันธุ์ พันธุ์เตรียมความพร้อมเป็นสินค้า GI 4 สายพันธุ์อีกทั้งสร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบและแปลงพ่อแม่พันธุ์ชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ เกษตรจังหวัดตาก ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงสายพันธุ์อะโวคาโดที่แนะนำให้ปลูกว่า ถ้าเป็นในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ พันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccaneer) ปีเตอร์สัน (Peterson) รูเฮิลร์ (Ruehle) บูท 7 (Booth7) พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) แฮสส์ (Hass) และปากช่อง 28 (Parkchong28) ขณะที่สายพันธุ์อะโวคาโดที่แนะนำให้เพาะเป็นต้นตอ ได้แก่ พันธุ์ดุ๊ก 7 (Duke 7), บูธ 7(Booth 7), ลูลา (Lula), และโชเควท (Choquette)
“สำหรับแผนการพัฒนาที่จะดำเนินการต่อไปนั้น ประกอบด้วย 4 มาตรการที่สำคัญ คือ 1. การพัฒนาอะโวคาโดจากพืชหัวไร่ปลายนาสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่และมุ่งเป้าหมายการเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในจังหวัดตาก 2.มุ่งเป้าให้เกษตรกรผลิตอะโวคาโดสายพันธุ์การค้ามาตรฐาน โดยศูนย์ฯทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดี การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ แกนนำเกษตรกรและเกษตรกรผู้ที่สนใจทั่วไป 3. การผลักดันให้เกิดการก่อตั้งสมาคมผู้ปลูกอะโวคาโดแห่งประเทศไทย และ 4. มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการทางวิชาการ เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอะโวคาโดแบบมืออาชีพโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) ตั้งเป้าเป็นศูนย์เรียนรู้ระดับ International บนความพร้อมสูงสุด เช่น การสร้าง I- school , smart box เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านทาง application ที่เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”นายรพีทัศน์ กล่าว
หากเกษตรกรสนใจต้องการข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการปลูกอะโวกาโดแบบมืออาชีพ สามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) เลขที่ 124 หมู่ 11 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก โทร. 0-5580-6249 หรือติดตามทาง fanpage : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก – เกษตรที่สูง