“โครงการชีววิถี เป็นโครงการที่ กฟผ. ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อนำองค์ความรู้และชีวิภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาขยายผลให้มีการใช้กันหลากหลายบนพื้นฐานของการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฎิบัติใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมตลอดถึงในครัวเรือนทั่วไป”
“กฟผ. ต้องการที่จะสร้างสังคมไทยให้มีการพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์และเครื่องมือหรือวัสดุที่นำเข้า และหวังว่าในความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้การเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ให้ชุมชนและสังคมไทยได้มีความเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติใช้ในวงกว้างขวางมากยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง” นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าว
โดยล่าสุดทางโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(กฟผ.) ได้จัดกิจกรรม “ชีววิถี อยู่ดี มีสุข” ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จังหวัดชุมพรด้วยการนำเครือข่ายชุมชนเกษตรกรรมภาคใต้คณาอาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนสื่อมวลชนและสื่อ Social Media เข้าร่วมกิจกรรม
โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (กฟผ.) เป็นโครงการที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาดำเนินการ ภายใต้แนวทาง “สืบสาน ต่อยอด ศาสตร์พระราชา” ภูมิปัญญาของแผ่นดิน ด้วยที่ผ่านมาโครงการชีววิถีได้รับการตอบรับของภาคีเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ ด้วยดีได้ให้ความสนใจเดินทางเข้าศึกษาดูงานและนำกิจกรรมของโครงการฯ ไปขยายผลต่อยอดและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับตนและครอบครัวตลอดถึงชุมชนโดยส่วนรวมเสมอมา และในการจัดกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชุมพรนั้นเนื่องจากการดำเนินงานของโครงการชีววิถีฯ ในพื้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพรนั้นมีความโดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรมในการนำภูมิปัญญาท้องเข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิทยาการของโครงการฯ
ขณะที่ ว่าที่ ร้อยตรีนิพนธ์ ภู่พลับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จังหวัดชุมพร กล่าวว่า โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ดำเนินการนั้น ทางวิทยาลัยจะเน้นการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาและเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้เป็นสำคัญใน 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วยการปลูกผัก การประมง การเลี้ยงสัตว์ และการผลิตภายใต้การรักษาสิ่งแวดล้อม
“อย่างเช่น การเพาะปลูกจะมีแปลงสาธิตการเพาะปลูกพืชผักที่เน้นผักพื้นเมืองของพื้นที่ภาคใต้ที่ประชาชนในพื้นที่เรียกว่าผักเหนาะหรือผักเหมือดซึ่งนิยมรับประทานกับขนมจีน เช่น มะม่วงหิมพานต์ กระถิน และหมุย เป็นต้น ขณะที่ด้านประมงมีบ่อสาธิตการเลี้ยงปลาหมอพันธุ์ชุมพรที่มีการพัฒนาพันธุ์จากปลาหมอพันธุ์ท้องถิ่นจนได้คุณสมบัติมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าพันธุ์ดั่งเดิม มีน้ำหนักขนาด 2-3 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม มีบ่อสาธิตการเลี้ยงปลาดุกลูกผสม เช่น บิ๊กอุย ปลาดุกรัสซีย พร้อมการสาธิตการคัดเลือกเพศปลาตัวผู้และตัวเมีย ตลอดถึงการฟักไข่ปลาที่ใช้เวลาเพียง 30 ชั่วโมงก็สามารถออกมาเป็นตัวได้โดยใช้โมกาฉิที่ผลิตขึ้นมาเอง”
นอกจากนี้ ยังมีแปลงสาธิตการเลี้ยงหมูหลุมที่ไม่มีกลิ่นมากระทบกับสภาพแวดล้อมโดยการใช้จุลินทรีย์ EM และลดการเกิดแมลงวันซึ่งหมูที่เลี้ยงจะมีสุขภาพดี ในขณะที่มีหนังบางเนื้อแดงรสชาติอร่อยเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค
การเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มที่ใช้ EM มาเป็นตัวช่วยในการจัดการทะลายปาล์มให้มีความเหมาะสมในการเพาะเห็ดฟางโดยใช้เวลาในการเตรียมการจากการเพาะแบบทั่วไปที่ 30 วันเหลือเพียง 15 วันเท่านั้น ขณะที่ผลผลิตสามารถยืดระยะการเก็บเกี่ยวในแต่ละรอบได้นานร่วมเดือน ถือเป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจที่ไม่ควรพลาด
ขณะเดียวกัน ภายใต้โครงการดังกล่าว ยังมีการเลี้ยงไก่อารมณ์ดี และใช้ช่วยกำจัดวัชพืชด้วยการนำไก่ใส่เล้าขนาดใหญ่ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ไก่จะเดินหากินในเล้าอย่างอิสระ อาหารไก่ผสมโมกาฉิ น้ำที่ให้ไก่กินผสม EM เวลาไก่ถ่ายมูลก็จะเป็นปุ๋ยชั้นดีสำหรับพื้นที่ตรงนั้น ขณะเดียวกันหญ้าบริเวณนั้นก็จะถูกไก่กินทำให้หญ้าหรือวัชพืชในพื้นที่น้อยลงหรือหมดไป จากนั้นก็ยกเล้าไก่ไปวางไว้ที่อื่นต่อไป ขณะเดียวกันพื้นที่ตรงนั้นเมื่อนำมาปลูกพืชผักก็จะสมบูรณ์ดีให้ผลผลิตงามรสชาติอร่อย เป็นการเลี้ยงไก่ที่ลงทุนน้อยและสามารถใช้พื้นที่เพื่อปลูกพืชผักโดยไม่ต้องใช้สารเคมีอีกด้วย
“วิทยาลัยเกษตรชุมพรจะเน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ที่สำคัญการมีแปลงสาธิตของโครงการฯ จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยการทำจริง ทุกคนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อจบออกไปก็จะมีทั้งวิชาการและประสบการณ์ ขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงก็สามรถเข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้วนำกลับไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อีกด้วย” ว่าที่ ร้อยตรีนิพนธ์ ภู่พลับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร กล่าว
ทางด้าน นางสาวโมนา ลินด์ ทูตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ กล่าวว่า ดีใจที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการชีววิถีอยู่ดีมีสุขกับ กฟผ. ได้เรียนรู้การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์โดยการใช้ EM ซึ่งไม่มีอันตรายกับสุขภาพ รวมถึงการใช้ EM ขยายที่ลงทุนน้อยแต่ได้ปริมาณ EM ที่มากขึ้นสามารถนำมาใช้บำรุงดินพืชและการเลี้ยงสัตว์ในปริมาณที่มากขึ้น และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่จำกัดซึ่งเหมาะกับสภาพพื้นที่ของสังคมเมืองเป็นอย่างดีและเหมาะกับผู้คนที่ใช้ชีวิตในสังคมเมืองเป็นอย่างดี
“ในฐานะทูตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะขอเป็นกระบอกเสียงในการร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกคนหันมาปลูกพืชผักสวนครัวแบบไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมสำหรับรับประทานเองในครอบครัว เพราะประหยัดและดีต่อสุขภาพของทุกคน และใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านเดินทางไปท่องเที่ยวและเรียนรู้สิ่งดีๆ เหล่านี้ที่โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (กฟผ.) ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จังหวัดชุมพร ที่นี่มีสิ่งดีๆ ให้ได้เรียนรู้มากมาย และสามารถนำไปปฏิบัติใช้ที่บ้านได้ด้วย” นางสาวโมนา กล่าวในที่สุด