เผยแทรนด์ขมิ้นชันอุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอางมาแรง เร่งวิจัยพันธุ์ปลอดโรคตลาดต้องการสูง
เผยแทรนด์ขมิ้นชันอุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอางมาแรง เร่งวิจัยพันธุ์ปลอดโรคตลาดต้องการสูง (โรงเรือนขมิ้นชันปลอดโรค)

กรมวิชาการเกษตร สบช่องแทรนด์ขมิ้นชันในอุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอาง-อาหารเสริมมาแรง  เร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์ขมิ้นชันปลอดโรคสายพันธุ์ตรัง1- ตรัง84-2เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต-ขยายพันธุ์ดีปลอดโรค พร้อมหนุนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเชิงการค้ารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมขมิ้นชันทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ เผยสรรพคุณให้ สารเคอร์คิวมินอยด์” สูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพร 120 % ทำให้เป็นที่ต้องการสูง

เผยแทรนด์ขมิ้นชันอุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอางมาแรง เร่งวิจัยพันธุ์ปลอดโรคตลาดต้องการสูง
นายสนอง จรินทร

นายสนอง จรินทร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพรเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของสูงของอุตสาหกรรมยาแผนโบราณ-ยาแผนปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโดยในปี 2560 ตลาดอุตสาหกรรมสารสกัดขมิ้นชันมีมูลค่ารวม 49 ล้านบาท ในขณะที่ปริมาณผลผลิตหัวสดซึ่งยังผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมขมิ้นชันในประเทศ โดยที่ผ่านมาสถาบันวิจัยพืชสวนได้รับการติดต่อจากองค์การเภสัชกรรมเพื่อขอซื้อพันธุ์ขมิ้นชันคุณภาพปลอดโรคเพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรในเครือข่ายปลูกเชิงการค้า เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมขมิ้นชันหลายแขนงที่กำลังขยายการเติบโต ซึ่งในเบื้องต้นองค์การฯมีความต้องการใช้ขมิ้นชันตากแห้ง ประมาณปีละ 90 ตัน ปัจจุบันได้มีการนำสารเคอร์คูมินอยด์ที่สกัดจากขมิ้นขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายการแรกของประเทศไทยสำหรับใช้บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อมและใน เพื่อนำมาผลิต ผลิตภัณฑ์แคปซูลสารสกัดขมิ้นชันทดแทนยาแผนปัจจุบัน สำหรับสรรพคุณของขมิ้นชันมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ 2 กลุ่มคือ กลุ่มน้ำมันระเหย (Volatile  oil)และกลุ่มสารสีเหลือส้มหรือที่เรียกว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการขยายการเติบโตของตลาดขมิ้นชัน กรมวิชาการเกษตรกำลังเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์ขมิ้นชันปลอดโรคระบบวัสดุปลูก(Substrate  Culture) หรือการปลูกที่ใช้วัสดุอื่นที่ไม่ใช่ดินในขมิ้นชัน 2 สายพันธุ์  คือสายพันธุ์ตรัง1และสายพันธุ์ตรัง 84-2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาโรคระบาดและการปนเปื้อนจากสารเคมีตกค้างในดินที่อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและสารเคมีตกค้างในผลผลิตขมิ้นชันซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าการปลูกในดิน ส่วนการขยายพันธุ์ได้ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทนการใช้หัวและแง่ง เพื่อเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้มากขึ้นสามารถรองรับความต้องการเกษตรกรที่จะนำขมิ้นชันพันธุ์นี้ไปปลูกเชิงการค้าในอนาคตโดยการวิจัยดังกล่าวดำเนินการในศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560และจะแล้วเสร็จในปี 2564นี้และหากสำเร็จก็พร้อมแจกจ่ายขมิ้นชันสายพันธุ์ปลอดโรคไปยังกลุ่มเกษตรกรต่างๆต่อไป       

เผยแทรนด์ขมิ้นชันอุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอางมาแรง เร่งวิจัยพันธุ์ปลอดโรคตลาดต้องการสูงอย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุที่เลือกสายพันธุ์ตรัง1และสายพันธุ์ตรัง 84-2 เนื่องจากเห็นว่าเป็นสายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากให้สารเคอร์คูมินอยด์และน้ำมันหอมระเหยในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย สำหรับขมิ้นชันสายพันธุ์ตรัง 84-2 ให้ผลผลิตหัวสด 2.59 ตัน/ไร่ ให้สารเคอร์คูมินอยด์ เฉลี่ย 11.04 เปอร์เซ็นต์สูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย 120.80 เปอร์เซ็นต์ ให้น้ำมันหอมระเหย เฉลี่ย 7.78 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย 29.67 เปอร์เซ็นต์ ส่วนขมิ้นชันสายพันธุ์ตรัง-1 ให้ผลผลิตหัวสด 2.23 ตัน/ไร่ให้สารสำคัญเคอร์คูมินอยด์เฉลี่ย 10.62 เปอร์เซ็นต์สูงกว่ามาตรฐานยาสมุนไพรไทย 112.4 เปอร์เซ็นต์ แลให้น้ำมันหอมระเหยเฉลี่ย 7.99 เปอร์เซ็นต์สูงกว่ามาตรสมุนไพร ไทย 33.17 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานยาสมุนไพรของจะต้องมีสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ไม่น้อยกว่า 5% และมีน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่า 6% สำหรับสถานการณ์ผลิตในปี 2559  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 4,000 ไร่ จำนวนเกษตรกรผู้ปลูก 1,000 ครัวเรือน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,500กก./ไร่  ให้ผลผลิตรวมทั่วประเทศ 3,500 ตัน แบ่งเป็นวัตถดิบใช้ในประเทศ 98%และส่งออกเพียงแค่ 2% ในรูปแบบน้ำมันขมิ้นชันไปยังสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยข้อได้เปรียบทางการตลาดคือขมิ้นชันไทยมีคุณภาพและคุณสมบัติที่ดีกว่าประเทศอื่น โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด 3 จังหวัด กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานีและลำปาง

เผยแทรนด์ขมิ้นชันอุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอางมาแรง เร่งวิจัยพันธุ์ปลอดโรคตลาดต้องการสูง
การเพาะเนื้อเยื่อขมิ้นชันปลอดโรค

สำหรับสารเคอร์คิวมินอยด์ ถือว่าเป็นสารสำคัญหลักในขมิ้นชันที่มีฤทธ์ที่เป็นประโยชน์มากมายและเป็นที่ต้องการของเภสัชกรรม อาทิ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ลดการอักเสบในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันตับจากสารพิษและลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง รักษาแผลในกระเพาะอาหารทำช่วยบำรุงผิวพรรณและชะลอความแก่  เป็นต้นในขณะที่ทางประเทศมีการพัฒนาขมิ้นชันเพื่อช่วยรักษาโรคมะเร็ง ในขณะกลุ่มน้ำมันระเหยจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง นอกจากนี้รัฐบาลกำลังผลักดันให้ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรระดับชาติเหมือนกับโสมเกาหลีโดยส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยจะซื้อผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันกลับไป

จากกระแสความต้องการของตลาดสมุนไพรีที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัย และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย และทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ และการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง เพื่อเพิ่มมูลค่าและผลักดันให้ขมิ้นชันเป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทย ในอนาคตด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานGAPและอินทรีย์ในทุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ตลอดจนเร่งกระจายขมิ้นชันพันธุ์ปลอดโรคระบบวัสดุปลูกหรือไม่ใช้ดินให้กว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งเร่งวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้ปริมาณต้นพันธุ์คุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมขมิ้นชันและเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อการค้าป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต” นายสนอง กล่าว   

เผยแทรนด์ขมิ้นชันอุตสาหกรรมยา-เครื่องสำอางมาแรง เร่งวิจัยพันธุ์ปลอดโรคตลาดต้องการสูง
ขมิ้นชัน

ด้านนางสาวชิญญา ศรีสุข นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ได้กล่าวเพิ่มเติม เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบวัสดุปลูก (Substrate Culture)ว่า เป็นการปลูกโดยใช้วัสดุอื่นแทนการใช้ดิน เช่น วัสดุอนินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ที่ราคาไม่สูง หาง่ายตามท้องถิ่นแต่ต้องมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของขมิ้นชันและคุณภาพผลผลิตวัตถุดิบที่ตรงตามมาตรฐาน เช่น ทราย แกลบดิบ แกลบเผา กาบมะพร้าวสับ ซังข้างโพดสับ เป็นต้น แล้วนำมาปลูกในกระบะ กระถางหรือถุงดำสำหรับปลูกที่มีขนาดใหญ่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของเหง้าขมิ้นชัน การใช้วัสดุปลูกที่เหมาะสมจะส่งเสริมให้มีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ผลผลิตมีคุณภาพและปลอดโรค ซึ่งแตกต่างจากการปลูกในดินมีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดสูง เช่น บางโรคก็ติดมาจากท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูก หรือมีการตกค้างของสารเคมีในดินจนทำให้ตกค้างอยู่ในผลผลิตขมิ้นชันได้

ปัจจุบันมีสายพันธุ์ขมิ้นชันได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมวิชาการเกษตรแล้วมีจำนวนแล้ว 5 สายพันธุ์ด้วยกันคือ ขมิ้นชันทับปุก(พังงา) ขมิ้นชันตาขุน(สุราษฏร์ธานี) ขมิ้นชันแดงสยาม ขมิ้นชันส้มปรารถนา และขมิ้นชันเหลืองนนทรี และมีสายพันธุ์ที่ผ่านการรับรองจำนวน 2 พันธ์ด้วยกัน คือขมิ้นชันสายพันธ์ตรังและขมิ้นชันสายพันธุ์ตรัง 84-2

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated