มะนาวแป้นพิจิตร 1 ฮิตติดลมบนมาหลายปีดีดัก ด้วยคุณสมบัติทนโรคแคงเกอร์ได้สูง เนื่องจากการปลูกมะนาวทั่วไป เกษตรกรส่วนใหญ่มักเจอปัญหาของโรคดังกล่าว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ลูกทรงแป้นติดผลดกมากและผลโต แต่ข้อด้อยคือเปลือกจะหนา เมล็ดเยอะ เพราะเหตุนี้จึงมีการปรับปรุงพันธุใหม่…
คุณอ้อ-มนัสชญา สายพนัส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร เปิดเผยกับ “เกษตรก้าวไกล” ว่า งานปรับปรับปรุงพันธุ์มะนาวแป้นพิจิตร 1 ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2558 และสิ้นสุด ปี 2561 โดยตนเองนั้นได้สืบทอดวิชาความรู้มาจาก อาจารย์ณรงค์ แดงเปี่ยม นักวิชาการเจ้าของผลงานมะนาวแป้นพิจิตร 1 ซึ่งขณะนี้เกษียณอายุราชการ และทำการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีฉายรังสีแกมมา จากนั้นนำพันธุ์ที่ได้ไปปลูกเปรียบเทียบ
“ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปลูกทดสอบสายพันธุ์ในแปลงปลูกของสถานีและในแปลงปลูกของเกษตรกร เราจะดูว่าต้นไหนหรือกิ่งไหนที่จะทำเป็นสายพันธุ์แนะนำ ตามโครงการจะสามารถเผยแพร่พันธุ์สู่เกษตรกรได้ในปี 2565 ขอให้เกษตรกรอดใจรอ”
จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 พบว่ามะนาวสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จะยังมีคุณสมบัติเด่นของเดิมครบถ้วน คือทนโรคแคงเกอร์ ผลดก และเพิ่มเติม คือเมล็ดน้อย ถึงขนาดที่เรียกว่าบางผลไร้เมล็ดก็มี ซึ่งคุณอ้อได้นำมะนาวมาผ่าพิสูจน์ให้ดู ผลแรกมี 1 เมล็ด และผลที่ 2 ไม่มีเมล็ด (ในคลิปจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ) และได้ทำการบีบน้ำมะนาวพบว่าน้ำเยอะ (แต่กรณีน้ำเยอะไม่ชัดนัก เนื่องจากมะนาวยังไม่แก่จัด) ในขณะเดียวกันได้ทำการผ่ามะนาวแป้นพิจิตร 1 ให้ดูก็พบว่ามีเมล็ดมาก ประมาณ 20 เมล็ด
“ตอนนี้สายพันธุ์มะนาวแป้นพิจิตร 1 ที่ทำการปรับปรังพันธุ์ใหม่มีแนวโน้มีกว่าพันธุ์แม่อย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ต้องรอให้สายพันธุ์นิ่งเสียก่อนจึงจะสามารถแนะนำพันธุ์สู่เกษตรกร คือต้องมั่นใจว่าผลผลิตดีจริง คุณภาพดีจริง จึงจะออกพันธุ์ได้”
ในตอนท้าย คุณอ้อ ได้แนะนำเกษตรกรว่าการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ผลอย่างเช่นมะนาวเป็นงานที่ต้องใช้เวลาวิจัยปรับปรุงพันธุ์นานหลายปี จึงอยากให้เกษตรกรตรวจสอบพันธุ์ที่จะนำมาปลูกให้ดี และมะนาวสามารถปลูกลงดินก็จะมีอายุยืนยาวกว่า แต่ถ้าปลูกในวงบ่อหรือในนกระถางก็จะสามารถบังคับทำนอกฤดูได้ง่ายกว่า(ในคลิปจะบอกสูตรการผสมดินปลูกด้วย) จึงต้องเลือกเอาว่าจะปลูกแบบไหน และควรจะบังคับให้ผลผลิตออกในช่วงใด และในฐานะที่เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่เป็นลูกเกษตรกรก็อยากทำงานวิจัยให้ได้คุณภาพมากที่สุด
เกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร 13 ม.6 ต.โรงช้าง อ.เมือง จ.พิจิตร 66000 โทร.056-990035, 056-990040 (ขออภัย เบอร์โทร.ที่ให้ไว้ในคลิปผิดพลาด ขอให้ยึดตามเบอร์โทร.นี้)