ระยอง เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และด้านอุตสาหกรรม และยังเป็นเมืองศูนย์กลางการพัฒนาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่อยู่ใกล้เมืองหลวง
ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดได้เล็งเห็นความสำคัญ และมุ่งเน้นการพัฒนาโดยเฉพาะ การเป็นเมืองผลไม้ ทั้ง ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ขนุน ลำไย ที่สามารถผลิตออกมาสู่ตลาดทั้งภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศได้อย่างน่าภาคภูมิใจ สามารถทำรายได้ให้จังหวัดปีละหลายพันล้านบาท
จากวิสัยทัศน์จังหวัดระยองที่ว่า “เมืองนวัตกรรมก้าวหน้า พัฒนาอย่างสมดุล บนพื้นฐานความพอเพียง” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศษฐกิจให้มีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สมดุล การจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วมยั่งยืน สร้างคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีบนฐานเศษฐกิจพอเพียง ยกระดับการส่งเสริมการค้าการลงทุน และพัฒนาเศษฐกิจที่เข้มแข็ง จึงทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาแนวรุก โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีเป้าหมายในการพัฒนาทางด้านการเกษตร ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ผลผลิตการเกษตรของจังหวัดที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เช่น สับปะรด “ทองระยอง” พืช GI ของจังหวัดระยอง เป็นสับปะรดสายพันธุ์ควีน (Queen) รูปผลทรงกระบอก ตาผลใหญ่ ร่องตาตื้น เปลือกบาง เมื่อผลแก่จัดจะมีสีเหลืองทองทั้งผล เนื้อสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอตลอดผล เนื้อแน่น แห้ง กรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น เป็นต้น รวมทั้ง เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และอื่น ๆ โดยเฉพาะ ทุเรียนหมอนทอง ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตออกมาได้คุณภาพที่ดีเยี่ยม เนื้อเหนียว แห้ง หวาน ทานอร่อย และได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทุเรียนที่ออกมาขายได้ในราคาที่สูง เมื่อเทียบกับทุเรียนในภาคอื่น ๆ เพราะทุเรียนที่ระยองจะออกสู่ตลาดก่อนภาคอื่น ๆ ด้วย
“ขณะนี้จังหวัดระยองกำลังดำเนินการขอ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ อีกพืชหนึ่ง โดยจังหวัดได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรให้มีการรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ การร่วมกันเรียนรู้เทคนิควิชาการใหม่ ๆ ในการพัฒนาคุณภาพผลไม้ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาผลผลิตสู่การรับรองมาตรฐาน GAP การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การแปรรูป และการจัดหาตลาดในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในฤดูกาลปี 2563 ที่จะถึง จะได้มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในการผลิตทุเรียนคุณภาพให้มากขึ้น ตั้งแต่การผสมดอกทุเรียน การจดบันทึกช่วงเวลาที่ดอกบาน การให้ปุ๋ย ให้น้ำ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี การเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและเหมาะแก่การขนส่ง การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เพื่อส่งเสริมการขายในเชิงรุก เป็นต้น”
ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวอีกว่า การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเกษตรกรให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังจะสามารถพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้น และเกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายเองที่สวนในรูปแบบของการท่องเที่ยวเกษตร ตลาดผลไม้ชุมชน ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ตลาดออนไลน์ ขายส่งออก หรือการนำสินค้ากระจายออกนอกพื้นที่ โดยเกษตรกรเองในนาม “นักการตลาดชุมชน”
“ซึ่งทุกช่องทางการตลาดจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐคอยเป็นพี่เลี้ยง ประสานงาน และสนับสนุนในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสินค้าจากสวนที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP แล้วจะได้สนับสนุนสติกเกอร์ QR Code เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เป็นข้อมูลรับรองแหล่งผลิต และการตรวจสอบย้อนกลับอีกด้วย นอกจากการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพแล้ว การตรวจรับรองสถานประกอบการโรงคัดแยก หรือล้ง ก็จะต้องได้รับรองมาตรฐาน GMP อีกด้วย ซึ่งจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ และดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะประเทศคู่ค้าหลายประเทศเริ่มมีข้อกำหนดในเรื่องมาตรฐานการผลิต และมาตรฐานโรงคัดแยก เข้มข้นขึ้น” นายสุรศักดิ์ กล่าว
ทางด้านนายนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดระยอง ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นของการบริหารจัดการสวนเกษตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตร ว่า จังหวัดระยองมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเกษตรสูงมาก เนื่องจากเกษตรกรมีความตื่นตัวในการบริหารจัดการสวนผลไม้ที่ได้คุณภาพ และมีความได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน ทั้งอยู่ใกล้เมืองหลวง การคมนาคมสะดวก เศรษฐกิจของจังหวัดดี มีกำลังซื้อสูง ภาคอุตสาหกรรมมีมาก การขายผลไม้โดยตรงระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับพนักงานบริษัทต่าง ๆ เป็นช่องทางการตลาดที่ไม่ควรมองข้าม
“ส่วนการดำเนินการตลาดในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งจัดได้ว่าเป็นตลาดเพียงรูปแบบเดียวที่เกษตรกรสามารถควบคุมและทำตลาดได้เอง สามารถกำหนดราคาขายได้เอง ขายอยู่กับสวนกับบ้านโดยไม่ต้องเสียค่าขนส่ง และเมื่อลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนสามารถขายสินค้าชุมชนประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากผลไม้ได้อีกด้วย เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้มีสวนเกษตรที่ขึ้นทะเบียนแหล่งท่องเที่ยวเกษตร ไว้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยองทั้งหมด 77 สวน และได้มีการประชุมหารือกันเพื่อจัดตั้งเป็น “สมาคมท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพ โดยชุมชนจังหวัดระยอง” คาดว่าอีกไม่นานคงจะดำเนินการได้แล้วเสร็จ”
นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ท่องเที่ยวธรรมชาติ และอื่นๆ ก็จะหนุนเสริมเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี จะเกิดพลังในการบริหารจัดการเชื่อมโยงเครือข่าย การต่อรอง การพัฒนาไปสู่มาตรฐานการท่องเที่ยว การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรที่หลากหลายในมาตรฐานเดียว การขยายผลไปสู่เกษตรกรอื่น ๆ ที่สนใจแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว สินค้าไม่พอบริการนักท่องเที่ยว สินค้าล้นตลาด ฯลฯ โดยในปีการผลิตที่จะถึงคาดว่าจะมีสวนเกษตรที่เข้ามาร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 100 สวน สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค และสร้างรายได้เพิ่มจำนวนมหาศาลให้กับเกษตรกรในจังหวัดระยองอย่างแน่นอน
การพัฒนาการเกษตรในภาพรวมของจังหวัด เกษตรจังหวัดระยองกล่าวเพิ่มเติมว่า จะต้องเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีก้าวหน้าให้มากขึ้น ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งระบบการให้น้ำอัจฉริยะ การควบคุมโรคแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวด้วยการนำเทคโนโลยีเครื่องผลิตแก๊สโอโซน ควบคุมคุณภาพผักผลไม้ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง และการเพิ่มช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการสร้างอาชีพเกษตรก้าวหน้า โดยการพัฒนา Smart Farmer และ Young Smart Farmer มุ่งผลิตสินค้าอาหารปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ การเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเกษตร ประมง ปศุสัตว์ สินค้าแปรรูป ที่ได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพ รองรับการพัฒนาไปสู่จังหวัดอัจฉริยะ (Smart Province) และการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC : Eastern Economic Corridor
นอกจากนั้นยังจะต้องสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรรายย่อยในสวนผลไม้ สวนยางพารา และพื้นที่ว่างเปล่า โดยการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เล็ก เป็ด ไก่ การเลี้ยงไส้เดือน การเลี้ยงผึ้ง/ชันโรงช่วยผสมเกสร การปลูกพืชร่วม พืชแซม เช่น ผักเหลียง ผักกูด สละ กระวาน พริกไทย ไม้ตัดดอก ไม้ตัดใบ และพืชสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลากหลายชนิดที่สามารถขึ้นร่วมกันได้ในสวนผลไม้ หรือสวนยางพารา ภายใต้แนวคิด “เพิ่มพื้นที่ทำกินโดยไม่เพิ่มโฉนด” และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ตามหลักปรัชญาเศษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
“ด้วยการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรหัวก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง การส่งเสริมอย่างจริงจังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโอกาสทางการตลาดที่จะเข้ามาจากนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักการค้า การลงทุนที่หลั่งไหลกันเข้ามาอีกมากมายมหาศาล EEC คือโอกาสทองของพี่น้องเกษตรกรชาวระยองแน่นอนครับ” เกษตรกรจังหวัดระยองกล่าวทิ้งท้าย