เกษตรภาคตะวันออก ผนึกกำลังป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง
เกษตรภาคตะวันออก ผนึกกำลังป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก จากข้อมูลล่าสุด วันที่ 15 ต.ค. 62 พบว่ามีการระบาดในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสระแก้ว พื้นที่ปลูก 385,906 ไร่ พบพื้นที่ระบาด 42,034 ไร่ และได้ดำเนินเข้าทำลายแล้ว 1,900 ไร่ จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่ปลูก 113,986 ไร่ พบพื้นที่ระบาด 2,070.50 ไร่ และได้ดำเนินการเข้าทำลายแล้ว 74 ไร่ จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ปลูก 215,430 ไร่ พบพื้นที่ระบาด 817 ไร่ และได้ดำเนินการเข้าทำลายแล้ว 556 ไร่ จังหวัดระยอง พื้นที่ปลูก 31,328 ไร่ พบพื้นที่ระบาด 228 ไร่ และได้ดำเนินการเข้าทำลายแล้ว 2 ไร่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ปลูก 144,629 ไร่ พบพื้นที่ระบาด 144 ไร่ และได้ดำเนินการเข้าทำลายแล้ว 23 ไร่ ส่วนจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูก 19,275 ไร่ จนถึงขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในพื้นที่

“จากความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรในการสำรวจติดตาม พบว่าสถานการณ์ของโรคใบด่างมันสำปะหลังมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและในภาคตะวันออก เนื่องจากมีการใช้และการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ทั้งที่เป็นโรคมาปลูก และการกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบที่เป็นพาหะของโรคยังไม่ทั่วถึง”

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง
นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง

นายดำรงฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวทางการป้องกัน ควบคุมการระบาดและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง จึงจัดให้มีการประชุมคณะทำงานความร่วมมือการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชภาคตะวันออกทุก 2 เดือน เพื่อกำหนดแนวทางและขับเคลื่อนการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังภาคตะวันออกให้เข้าใจตรงกัน ทั้งนี้ในเขตภาคตะวันออกได้มีการตั้งคณะทำงานความร่วมมือป้องกันและกำจัดศัตรูพืชภาคตะวันออกขึ้น เมื่อวันที่ 31  กรกฎาคม 2562 ขึ้น ซึ่งเป็นคณะทำงานความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี โดยได้กำหนดแนวทางมาตรการในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชภาคตะวันออกให้นำสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมใน  2 เรื่อง คือ หนึ่ง การตั้งกลุ่มไลน์เฉพาะและการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชภาคตะวันออกสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ดำเนินการตั้งกลุ่มไลน์ชื่อ “คณะทำงานอารักพืชภาคตะวันออกการตั้งกลุ่มไลน์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางในการดำเนินงานในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชภาคตะวันออกโดยให้รายงานรายงานสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชภาคตะวันออก และนำเข้าข้อมูลแนวทางและวิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานต่อไป พร้อมทั้งเป็นช่องทางการสื่อสารการดำเนินงานฯ เป็นข้อมูลเอกภาพของทั้ง 2 หน่วยงาน มีข้อมูลแนวทางและวิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเพื่อนำไปใช้ในการควบคุมและกำจัดศัตรูพืช และสอง การปลูกพืชทดแทนมันสำปะหลังและการจัดทำแปลงพันธุ์มันสะอาดปลอดโรค

นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562  สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ จัดประชุมคณะทำงานความร่วมมือการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2562 “เรื่องโรคใบด่างมันสำปะหลัง ขึ้นที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร เกษตรจังหวัด และคณะทำงานประกอบด้วย ผอ. สวพ.6 จันทบุรี /ผอ.สวพ/ผอ.ศวพ. ภายใต้ สวพ.6 จบ. หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรีและระยอง และผอ.ศสพ. รย.และผอ.ศวพ. ฉช. โดยมี นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ พร้อมกันนี้นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ประธานคณะทำงานความร่วมมือป้องกันและกำจัดศัตรูพืชภาคตะวันออก พร้อมด้วยนางสาววรนุช สีแดง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตได้นำเสนอประเด็น พืชทางเลือกในการปลูกทดแทนมันสำปะหลังและการจัดทำแปลงพันธุ์มันสะอาดปลอดโรคเพื่อพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป

เกษตรภาคตะวันออก ผนึกกำลังกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังนายดำรงฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า โดยในการประชุม กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินและปุ๋ย ได้มีการชี้แจงโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตามมติ ครม. ดังนี้ โครงการฯ ได้อนุมัติงบประมาณในพื้นที่ 50 จังหวัด เป็นพื้นที่ระบาด 11 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวัง 39 จังหวัด โดยมีแผนการดำเนินการประกอบด้วย การสำรวจ ไม่เกินวันที่ 31 ต.ค. 62 การตรวจโรค ระหว่างเดือนต.ค. 62 – มิ.ย. 63 การกำจัด ตั้งแต่เดือนต.ค. 62 – ก.ย. 63 กรณีของการชดเชยให้แก่เกษตรกรดำเนินการตั้งแต่เดือนม.ค. – ก.ย. 63 ซึ่งมีเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยต้องเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฏหมาย, ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง,ได้รับการยืนยันความเป็นโรคจากกรมวิชาการ, ยินยอมให้ทำลายตามวิธีการที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด, มีการปลูกในช่วง เม.ย. 62 – 30 ก.ย. 62 และมีการแจ้งข้อมูลการพบโรค 1 ต.ค. 62 – 30 มิ.ย. 63 รวมถึงมีการพักแปลง (ไม่มีมันสำปะหลังในแปลง) ไม่น้อยกว่า 2 เดือน นอกจากนี้ต้องเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์ และมีบัญชีกับ ธกส.

“สำหรับเกษตรกรที่พบว่ามีการระบาดในพื้นที่นั้นให้ใช้วิธีทำลาย ตามวิธีการของกรมวิชาการเกษตร คือใส่ถุงตากแดด ปิดปากถุงให้มิดชิด จากนั้น ขุดหลุมกลบ และบดสับด้วยเครื่องบดป่น และฉีดพ่นด้วยสารกำจัดวัชพืชที่กำหนด แล้วคลุมเศษมันสำปะหลังด้วยพลาสติกตากแดดให้แห้งตาย” นายดำรงฤทธิ์ กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated