กรมส่งเสริมสหกรณ์รุกเสริมเขี้ยวเล็บเพิ่มศักยภาพโรงสีข้าวสหกรณ์จังหวัดลำปางเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP –ขยายพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์และGAP แปลงใหญ่ เพิ่มมูลค่า รายได้ที่มั่นคงแก่สมาชิกสหกรณ์แบบยั่งยืน
นายบรรจง ชัยขุนพล สหกรณ์จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการพัฒนาศักยภาพ การผลิตข้าวของสหกรณ์การเกษตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของตลาด สหกรณ์จังหวัดลำปางจึงได้จัดทำโครงการอบรม “โครงการพัฒนาศักยภาพโรงสีข้าวสหกรณ์เพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐานGMP” ให้แก่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปาง จำกัด เพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจสินค้าเกษตรในสหกรณ์ ตั้งแต่การผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว หลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว การเก็บรักษาเพื่อรอการแปรรูปและรอการจำหน่าย วิธีการและขั้นตอนการแปรรูปเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมดูแลให้เป็นไปตามระบบการผลิตอาหารปลอดภัย ตามระบบมาตรฐาน GMP เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์บริหารจัดการทรัพยากรข้าวที่สหกรณ์มีอยู่ให้สามารถ สร้างมูลค่าสูงสุดในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิกให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในปีการผลิต 2562/63 สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปาง จำกัด เข้าร่วมโครงการข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร โดยทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าว (MOU) ของกลุ่มเกษตรกรโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ จำนวน 10 กลุ่ม สมาชิก 174 ราย ผลผลิตรวม 167.3 ตัน สำหรับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปาง จำกัด ดำเนินธุรกิจรวมกันซื้อรวมกันขาย และสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา เป็นหลัก เช่นนาข้าว GAP และข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วไป 400,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 224,000 ตัน ข้าวGAP และข้าวอินทรีย์ในโครงการเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรอินทรีย์ จำนวน 3,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,500 ตัน
นายบรรจง กล่าวด้วยว่า นอกจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปางฯ แล้วสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด นับเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง มีโรงสีข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ปัจจุบันมีสมาชิก 2,633 คน พื้นที่การทำนา 13,000 ไร่ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ปลูกข้าวเหนียวเพื่อบริโภค และจำหน่ายบางส่วนและปลูกข้าวเจ้าร้อยละ 30 เพื่อจำหน่าย ที่ผ่านมาสหกรณ์ฯ ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อจัดตั้งโรงสีขนาดกำลังการผลิต 24 ตันต่อวัน เมื่อปี พ.ศ. 2542 และได้ทำการปรับปรุงโรงสีจนถึงปัจจุบันด้วยงบประมาณของสหกรณ์ฯ กว่า 6 ล้านบาทในการติดตั้งเครื่องยิงสี (Color sorter) เพื่อให้ได้คุณภาพข้าวที่ดีขึ้น จนทำโรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตรได้รับรองมาตรฐาน GMP, HSCCP ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานและความปลอดภัยของผู้บริโภค มาตรฐานมอก. อ.ย. โรงงานสีเขียวและรางวัลโรงสีระดับดาวทองจากกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตรฯ ยังได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณปี 61 (งบกลางปี) แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร (โครงการไทยนิยม ยั่งยืน) ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง ลานตาก ขนาด 2,240 ตารางเมตร ภาครัฐสนับสนุน 1,206,000 บาท สหกรณ์สมทบ 134,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,340,000 บาท สามารถรวบรวมข้าวเปลือกจำนวน 2,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าจำนวน 46,478,649.75 บาท มีสมาชิกที่ได้รับผลประโยชน์ 184 ราย บุคคลภายนอก 306 ราย โดยช่องทางการตลาดผ่านเอกชนและสหกรณ์เครือข่าย
นายบรรจง กล่าวด้วยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งเสริมให้สหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวดำเนินธุรกิจข้าวแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มปลูกข้าวแบบนาแปลงใหญ่ ส่งเสริมสมาชิกใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพ และผลิตข้าวเปลือกให้ได้ตามมาตรฐาน GAP และป้อนสู่โรงสีข้าวเพื่อดำเนินกาแปรรูปเป็นข้าวสาร ซึ่งโรงสีข้าวสหกรณ์ส่วนใหญ่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน GMP ซึ่งการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตข้าวครบวงจร และมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกัน จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลง และสามารถเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเข้ามารับซื้อผลผลิตที่มีคุณภาพได้ในรูปแบบ “ประชารัฐ” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรฯ โดยสหกรณ์จะร่วมกับเอกชนในการวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ตกลงปริมาณการรับซื้อที่แน่นอน รวมถึงตกลงราคาขายข้าวสารที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร มีการต่อยอดและขยายผล นำมาซึ่งรายได้ที่มั่นคงของสมาชิกสหกรณ์แบบยั่งยืน