เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ซูเปอร์มาเก็ต กรูเม่มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงาน เรื่อง แนวทางการส่งเสริมและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยมีคณะผู้บริหารของบริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ปจำกัด ให้การต้อนรับ
ภายหลังการดูงานเสร็จ นายชวลิต ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงภาพรวมการลงพื้นที่ว่า ได้ลงพื้นที่ทั้งแปลงของเกษตรกร ตลาดค้าส่ง และห้างสรรพสินค้า เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และความตระหนักแก่ผู้บริโภค ให้ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย และผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการผลิตสินค้าผักและผลไม้ได้มีการจัดทำระบบที่สามารถ ตรวจสอบย้อนกลับถึงต้นทางแหล่งผลิตสินค้า โดยเฉพาะแปลงที่เพาะปลูกผักและผลไม้ จะต้องรับทราบได้ว่าผักและผลไม้ดังกล่าว มีความปลอดภัยอยู่ในระดับใด มาจากแปลงไหน หากพบว่า มีการนำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยมาจำหน่ายนั้น ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการต่อไป
นายชวลิต กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่ กมธ. นำไปประกอบ การจัดทำรายงานนั้น มี 8 ประเด็นได้แก่
- การแบน 3 สารพิษทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเสต
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาว่ามีสารเคมีทางการเกษตร ชนิดใดที่จำเป็นต้องแบนเพิ่มอีกหรือไม่
- การส่งเสริมให้นำองค์ความรู้จากโครงการเกษตรแปลงใหญ่ และศูนย์ความรู้ทางการเกษตร มาเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปปรับใช้
- การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรกลทางการเกษตรในราคาประหยัดแก่เกษตรกร และยกเว้นการจัดเก็บภาษีเครื่องจักรกลทางการเกษตร
- เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้เกษตรอินทรีย์ เป็นวาระแห่งชาติ
- ตั้งกองทุนเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด
- การส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตให้สามารถแข่งขันกับผักและผลไม้ ที่นำเข้าจากต่างประเทศได้
- เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเกษตรกร โดยเฉพาะการแก้กฎหมายเพื่อแยกคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม และชุดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตหรือยกเลิกการใช้สารเคมีสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น
ทั้งนี้คณะ กมธ. ชุดนี้ จะสิ้นสุดระยะเวลาการทำงานในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ จะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ไปประกอบการจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐสภา และส่งให้รัฐบาลรับไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป โดย กมธ.จะนัดประชุมวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เป็นนัดสุดท้าย เพื่อหารือถึงแนวทางในการขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ต่อไป