กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก จ.นครนายก เหตุอายุการใช้งานนานกว่า 80 ปีแล้ว พร้อมแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพทั้งระบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ปัจจุบัน
นางภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มีความจำเป็นต้องปรับปรุงภาพรวมทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทั้ง 2 โครงการให้มีความสอดคล้องกัน เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน โดยมีการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่บริหารจัดการน้ำที่เกี่ยวข้องครอบคลุมลุ่มน้ำนครนายก พื้นที่เกี่ยวเนื่องซึ่งอาจมีโครงข่ายเชื่อมโยงกัน รวมถึงพื้นที่ข้างเคียงซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบ
โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก เป็นโครงการที่รับน้ำต้นทุนหลักมาจากแม่น้ำนครนายก และลำน้ำสาขาต่างๆ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2479 มีอายุการใช้งานมานานกว่า 80 ปีแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลงจนอาคารชลประทานบางแห่งชำรุดเสียหาย แม้ว่าได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม การใช้ที่ดิน การเพาะปลูก กิจกรรมการใช้น้ำ ที่เกิดจากการพัฒนาเขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้โครงสร้างอาคารชลประทานและการบริหารจัดการน้ำไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน จนเกิดปัญหาทั้งด้านการส่งน้ำ การระบายน้ำ คุณภาพน้ำ และปัญหาดินเปรี้ยวที่เป็นลักษณะเดิมของพื้นที่อยู่แล้ว
กรมชลประทาน จึงว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในกระบวนการศึกษากรมชลประทานและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ครั้ง เพื่อพิจารณาแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยวันนี้ (13 พ.ย.62) กรมชลประทานได้จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการเพื่อนำเสนอผลการศึกษา และรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการฯ
ผลจากการศึกษาพบว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย (1) การบริหารจัดการเขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนบางปะกง เขื่อนนายกและระบบชลประทาน (2) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำชั่วคราวเป็นระยะๆ ทั้งในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก (3) เพิ่มระบบสูบระบายบริเวณปลายคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานและจุดควบคุมที่สำคัญ เพื่อเร่งการระบายน้ำและลดระยะเวลาน้ำท่วมขังไม่ให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ (4) ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมประจำในการช่วยชะลอน้ำหลาก ผันน้ำจากแม่น้ำนครนายกเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (5) ติดตั้งระบบสูบระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำนครนายกในลักษณะของการพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลากที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำในลักษณะของแก้มลิงแม่น้ำ