กรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่นรองรับการใช้เครื่องจักรกลเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่นรองรับการใช้เครื่องจักรกลเกษตร

จากความสำเร็จของโครงการพัฒนาความรู้เทคนิคการใช้บำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับเกษตรกร ซึ่งมีเป้าหมายสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่น เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมขยายผลต่อเนื่องปี 2563 สร้างช่างเกษตรท้องถิ่นเพิ่มอีก 3,500 คน มุ่งเน้นพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร ให้สามารถซ่อมแซมแก่เกษตรกรด้วยกันในท้องถิ่นได้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรได้นำเครื่องยนต์เกษตรมาใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมทดแทนแรงงานมากขึ้น ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรให้เป็นกลไกในการพัฒนาการเกษตรยุคใหม่ของประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และเวลา โดยมุ่งเป้าพัฒนาในพืชเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันดับแรก ดังนั้น กรมจึงเดินหน้าพัฒนาเกษตรกรผู้ใช้เครื่องยนต์เกษตรอย่างต่อเนื่อง สู่การเป็น “ช่างเกษตรท้องถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร กิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ปี 2563 เพื่อพัฒนาความรู้ด้านเทคนิคการใช้ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตร การสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่นสำหรับรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีการถือครองเครื่องยนต์เกษตรอยู่ประมาณ 2.9 ล้านเครื่องกรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่น

สำหรับในปี 2563 มีเป้าหมายสร้าง “ช่างเกษตรท้องถิ่น” จำนวน 3,500 ราย โดยคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีเครื่องยนต์เกษตรหนาแน่นใน 72 จังหวัดครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ ผ่านการฝึกอบรม 3 หลักสูตร ใน 3 ระดับ ประกอบด้วย หลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 1 จำนวน 3,000 ราย รวม 120 รุ่น ๆ ละ 25 ราย เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคนิคการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรได้อย่างถูกต้อง ได้แก่ การใช้งานเครื่องยนต์เกษตร การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ก่อนและหลังการใช้งาน การเลือกใช้น้ำมันเครื่อง การจำแนก และเลือกใช้อะไหล่แท้จากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลของตนเองได้และสามารถถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับเพื่อนบ้านได้กรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่น

หลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 2 จำนวน 300 ราย โดยคัดเลือกผู้ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 1 เพื่อพัฒนาทักษะและเทคนิคเพิ่มเติม รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือช่างที่จำเป็นให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้สามารถถอดประกอบเครื่องยนต์ ซ่อมแซมระบบกำลังอัด เช่น เปลี่ยนแบริ่งเพลาข้อเหวี่ยง แบริ่งก้านสูบ แหวนลูกสูบ ลูกสูบ ปรับตั้งมาร์คเฟือง บดวาล์ว และตั้งวาล์ว เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องของเครื่องยนต์ การซ่อมแซมระบบน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ชุดไส้กรอง ชุดปั๊ม และชุดหัวฉีด ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลของตนเองได้และให้บริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรข้างเคียงได้ และหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 3 จำนวน 200 ราย โดยคัดเลือกผู้ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 2 เพื่อพัฒนาทักษะและเทคนิคเพิ่มเติมให้สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการผิดปกติของการทำงานของเครื่องยนต์และชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ ให้บริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมใหญ่เครื่องยนต์เกษตร (Overhaul) ให้เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการอบรมกรมจะจัดงานบริการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 3 ที่ผ่านการอบรมแล้วออกให้บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรแก่เกษตรกรทั่วไป รวม 2 ครั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลสร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่น

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็น“ช่างเกษตรท้องถิ่น” ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน หรือศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร หรือกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-6177 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเปิดรับจำนวนจำกัดและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม สำหรับโครงการดังกล่าวที่ผ่านมาได้มีการติดตามประเมินผลโครงการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ เกษตรกร 97% มีเครื่องจักรกลทางการเกษตรเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดหญ้า เครื่องพ่นยาพ่นปุ๋ย รถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งรถไถขนาดใหญ่ และรถอีแต๋น หลังจากเข้าร่วมโครงการ เกษตรกร 98% เห็นว่า เนื้อหาของหลักสูตรตรงกับความต้องการ ในจำนวนนี้ 97% ได้นำความรู้ไปปรับใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรองอากาศ และสายพาน เกษตรกรที่ผ่านการอบรม 73% สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้เพื่อนบ้าน สมาชิกในครอบครัว สำคัญที่สุด คือ สามารถลดการจ้างแรงงานซ่อมแซม ปรับปรุงเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้เฉลี่ยเครื่องละ 624.44 บาทต่อปี

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated