“โครงการหลวงมุ่งผลิตพืชในระบบปลอดภัย และพัฒนาชีวภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนสารเคมี” ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการรักสุขภาพกันมากขึ้น ผู้บริโภคต่างตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงมุ่งสรรหาวัตถุดิบอาหารที่ผลิตจากธรรมชาติ ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพ ปลอดภัย และมีมาตรฐานสากลรองรับ
เป็นเวลาถึง 50 ปี ที่มูลนิธิโครงการหลวง โครงการในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อขจัดปัญหาการปลูกฝิ่น พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวเขาให้มีความอยู่ดี กินดี รวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูงของประเทศไทยให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย และมีความมั่นคงผลการดำเนินตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติแล้วว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่เข้าใจ เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนบนพื้นที่สูงจากการปลูกฝิ่นมาเป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน กระบวนการผลิตพืชของเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวง ซึ่งกระจายอยู่ในเขต 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก ประกอบด้วย สถานีวิจัย/เกษตรหลวง 4 แห่ง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 35 แห่ง จำนวนกว่า 4,9624 ครัวเรือน มีการควบคุม ดูแลโดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชแต่ละชนิด โครงการหลวงได้นำระบบรับรองมาตรฐานการผลิตที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาควบคุมการผลิตตั้งแต่ระดับไร่นา จนถึงกระบวนการคัดบรรจุ และขนส่งถึงผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นระบบ GAP, Mc Donald’s GAP, Organic Thailand และ GMP/HACCPนอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหน่วยงานป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจและควบคุมการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในพื้นที่โครงการหลวง รวมทั้งดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชจากธรรมชาติ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ภาคสนาม และเกษตรกร ระบบการกำจัดศัตรูพืชของโครงการหลวงยังมุ่งเน้นการใช้วิธีการจัดการแบบผสมผสาน ขณะที่การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นที่นิยมแพร่หลาย เนื่องจากสะดวก และกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะส่งผลกระทบตามมา โดยเฉพาะสารตกค้างที่เป็นอันตรายทั้งต่อเกษตรกร และผู้บริโภค รวมถึงการตกค้างในสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อดิน สัตว์ และแมลงที่มีประโยชน์ ดังนั้นในการจัดการแมลงศัตรูพืชโครงการหลวงจึงให้ความสำคัญกับการใช้หลักธรรมชาติได้แก่ การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) คือ เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี คือ การใช้กลไกศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช หรือตัวห้ำตัวเบียน เพื่อควบคุมประชากรแมลงศัตรูพืชการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีเขตกรรมคือดูแลและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของต้นพืชให้มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของศัตรูพืชแล้ว พืชจะแข็งแรงสามารถทนต่อการทำลายของแมลงการปรับสภาพดินให้มีระดับ pH ที่เหมาะสม มีแร่ธาตุอาหารสมบูรณ์ การไถพรวนกลับหน้าดินเพื่อทำลายไข่และตัวอ่อนของแมลงการกำจัดวัชพืชแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลง การตัดแต่งกิ่งเพื่อจำกัดที่อยู่อาศัยของแมลง ทำให้แสงแดดส่องผ่านได้มากยิ่งขึ้น การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของแมลงนั้น ๆ เป็นเวลานาน การปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อจำกัดแหล่งอาหารของศัตรูพืชการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยวิธีกล คือ การใช้กับดักชนิดต่าง ๆ การใช้ตาข่ายคลุมแปลง การใช้สารล่อแมลง การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยทางฟิสิกส์ คือ การใช้รังสีทำให้แมลงวันผลไม้เป็นหมันการคัดเลือกเมล็ดจากแม่ไม้ที่มีคุณภาพ มีความแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคและแมลงรวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์พืชที่มีความต้านทานโรค
สำหรับการเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดนั้น โครงการหลวงได้คัดเลือกสารกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสมดุลทางธรรมชาติและไม่ตกค้างในระดับที่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งมีระบบการควบคุมและตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลผลิตตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมาโครงการหลวงได้จัดตั้งโรงผลิตชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชขึ้น เพื่อผลิตชีวภัณฑ์และสารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยทั้งต่อมนุษย์ สัตว์และพืช ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสนับสนุนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ปัจจุบันได้ผลิตสารชีวภัณฑ์ สารปลอดภัยในป้องกันกำจัดศัตรูพืช จำนวน 13 ชนิด ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช จำนวน 5 ชนิดได้แก่ พีพี-ไตรโค พีพี-บีเค 33 พีพี-บี10 พีพี-บี15 และพีพี-สเตร็บโต และผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลง จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ พีพี-เมทา พีพี-ฟีโร พีพี-เบ็บ พีพี-แมลงวันแตง น้ำหมักสมุนไพร 4 สูตร สบู่อ่อน สะเดาบด และ ฟีโรโมน ด้วงหมัดผักซึ่งเป็นชีวภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ใช้ภายในปี พ.ศ. 2563 นี้
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมี และยอมรับการนำชีวภัณฑ์ไปใช้ทดแทนในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น โครงการหลวงจึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตใช้เองอีกทางหนึ่ง ในประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีวิธีการผลิตง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรอีกด้วยได้แก่ การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด การขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาในปุ๋ยหมักเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันกำจัดโรคพืช การผลิตน้ำหมักสมุนไพรป้องกันแมลง การผลิตเชื้อราเมทาไรเซียมและบิววาเรียชนิดสดเพื่อป้องกันกำจัดแมลง เป็นต้น และได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อผลิตและจำหน่ายให้กับสหกรณ์และเกษตรกรรายอื่น ๆ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
ในปี พ.ศ.2562 โครงการหลวงสามารถผลิตชีวภัณฑ์และสารปลอดภัยที่มีความเฉพาะเจาะจงกับศัตรูพืชเป้าหมาย อาทิ เชื้อราบิวเวเรีย เชื้อราเมทาไรเซียม น้ำหมักสมุนไพรและฟีโรโมนล่อแมลงศัตรูพืช รวมทั้งผลิตภัณฑ์กำจัดโรคพืช ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส และเชื้อแอคติโนมัยซีส เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดโรคพืชและแมลงสำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งรัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ในประเทศแล้วจำนวน 3 ชนิดคือ พาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส-ไกลโฟเซตนั้นโครงการหลวงได้เริ่มต้นศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทดแทนเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร รวมทั้งวิจัยและพัฒนากระบวนการคัดกรองผลิตผลด้านความปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตร โดยพัฒนาเครื่องมือเทคนิค และนวัตกรรมในการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลิตผลเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งยื่นขอจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาในชื่อ “เครื่องระเหยสารสกัดจากตัวอย่างพืชเพื่อวิเคราะห์สารตกค้างด้วยท่อลมร้อน” แล้วการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของโครงการหลวงได้พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อชาวไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่า มีความสด สะอาดปลอดภัย และยังช่วยให้เกษตรกรชาวเขาสามารถดำรงชีวิตอย่างพอเพียง เป็นสุข ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ ชาวไทยทั้งประเทศได้มีพืชผักผลไม้ปลอดภัยรับประทานในราคาที่เหมาะสม ลดการนำเข้าสินค้าเกษตร และยังสามารถส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย