กรมชลประทาน เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 938 ล้านบาทสร้างระบบชลประทานแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม หนุนพื้นที่การเกษตรเพิ่มกว่า 7,940 ไร่
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ ม.6 บ้านดอนแก้ว ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีที่กักเก็บน้ำไว้เพื่อทำการเกษตร และในช่วงฤดูน้ำหลากก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ในปี 2558 ม.นเรศวร ได้ดำเนินโครงการศึกษาหาทางออกแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษาการพัฒนาแหล่งเก็บกักในลุ่มน้ำยมตอนบน และได้เสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ (สะเอียบโมเดล) หลายแห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่เต้น รวมทั้ง “อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สกึ๋น 2” และวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และให้กรมชลประทานนำไปดำเนินการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการแหล่งน้ำที่เป็นความต้องการของประชาชน
ต่อมาในเดือน กันยายน 2561 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้จ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 เพื่อศึกษาจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) โดยมีวัตถุประสงค์ให้อ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร สำหรับอุปโภค-บริโภคของประชาชน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงในฤดูแล้ง ทั้งบรรเทาความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ
โดยโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สกึ๋น 2 จะตั้งอยู่ที่ ม.6 บ้านดอนแก้ว ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พิกัด 633062E 2070775N เป็นเขื่อนดินถมแบ่งส่วน (Zoned Dam) พื้นที่รองรับน้ำฝน 104.39 ตร.กม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 23.95 ล้าน ลบ.ม.ความจุเก็บกัก 19.67 ล้าน ลบ.ม. ระดับท้องน้ำ +272.00 ม.(รทก.) ระดับน้ำต่ำสุด +277.50 ม.(รทก.) ระดับน้ำเก็บกัก +314.00 ม.(รทก.) ระดับน้ำสูงสุด +315.50 ม.(รทก.) ระดับสันเขื่อน +318.00 ม.(รทก.) ความยาวสันเขื่อน 300 ม. ความสูงเขื่อน 46.00 ม. ความกว้างสันเขื่อน 8.00 ม.
มูลค่าแผนการก่อสร้างรวมอยู่ที่ 938.89 ล้านบาท แบ่งเป็นถนนเข้าโครงการ ทำนบดิน อาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม อาคารระบายน้ำล้นรวม 428.81 ล้านบาท ค่าอำนวยการก่อสร้างและอาคารประกอบรวมระบบชลประทาน 506 ล้านบาท โดยจะเริ่มพิจารณา EIA ในปี 2563 ออกแบบโครงสร้างปี 2564 และเริ่มก่อสร้างในปี 2565-2568
ทั้งนี้ ในการออกแบบระบบชลประทานเบื้องต้น พื้นที่ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทางด้านการเกษตร รวม 7,940 ไร่
2) เพิ่มพื้นที่ชลประทานฝายแม่ยม จำนวน 6,700 ไร่