(24 ธันวาคม 2562) กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานพบสื่อมวลชน Meet the Press ส่งสุขปีใหม่ ให้เกษตรกร ประกาศปี 2563 เป็นปีแห่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมนำการเกษตร ขับเคลื่อนผ่าน 6 แนวทางหลักที่ต้องดำเนินการให้ “เข้มแข็ง” เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งความสุขถึงมือเกษตรกรทุกพื้นที่
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศขับเคลื่อน 6 แนวทางหลัก เป้าหมายสำคัญ คือ การใช้หลักตลาดนำการเกษตรขับเคลื่อนทุกพื้นที่ ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับพืชและสถานการณ์ ให้ ทุกหน่วยงานในกรมฯ พร้อมปฏิบัติทันที ผ่าน สำนักงานส่งเสริมและและพัฒนาการเกษตร ที่ 1-6 สำนักงานเกษตรจังหวัด 77 จังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการ 50 ศูนย์ โดยหน่วยงานภายในส่วนกลางสนับสนุนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ส่งความสุขถึงมือเกษตรกรทุกพื้นที่
สำหรับ 6 แนวทางหลักที่ดำเนินการ ได้แก่
1. การขยายผลโครงการพระราชดำริ ปัจจุบันได้สร้างต้นแบบเกษตรกรจากโครงการพระราชดำริ ต่างๆ และสามารถขยายผลสู่เกษตรกรอื่นในชุมชน กว่า 1,000 คน โดย ตัวอย่างผลสำเร็จเกิดจากการขยายผลโครงการบนพื้นที่สูง รวมถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีผลผลิตทางการเกษตรมายมาย ต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับขยายผลให้กับเกษตรกรอื่นๆ ในชุมชน และเครือข่าย
2. การบริหารจัดการสินค้าเกษตรยึดหลักตลาดนำการเกษตร ดำเนินการผ่านโครงการระบบส่งเสริมการเกษตร แบบแปลงใหญ่ เช่น แปลงใหญ่กล้วยหอมทอง จ.เพชรบุรี สามารถรวมกลุ่ม มีพื้นที่ 1,401 ไร่ สมาชิก 465 ราย มีตลาดรองรับ ทั้งในและนอกประเทศ ใช้นวัตกรรมหลังการเก็บเกี่ยวมาช่วยยืดอายุการส่งออก ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มสามารถดำเนินการเป็นสหกรณ์ ได้มีรายได้ที่มั่นคงตลอดทั้งปี ซึ่งชุมชน ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับผลประโยชน์
3. การพัฒนาองค์กร วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สามารถ ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน มีรายได้ นอกเหนือจากการทำการเกษตร ลดความเสี่ยง มีเกษตรกรรุ่นใหม่มาต่อยอดแนวคิด และใช้นวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน เช่น บ้านสวนขวัญ ชุมชนริมคลองบ้านบางขาม ของ จ.ลพบุรี ที่พัฒนาแนวคิดมาจากเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ที่อยากจะชุมชนให้คนในชุมชนมีรายได้ จึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
4. การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและบูรณาการทำงาน การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เป็นกลไกสำคัญในงานส่งเสริมการเกษตร ผ่านการจัดงานวันเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field day) ใน 882 ศพก.และเครือข่าย ทั่วประเทศ ให้ชุมชน วิเคราะห์ปัญหา และมีฐานเรียนรู้ ที่จะนำตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรในพื้นที่มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา ในพื้นที่เกษตรของตัวเอง ตัวอย่าง การจัดงาน Field day การผลิตพริกไทยคุณภาพ ของ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
5. การช่วยเหลือดูแลและให้บริการแก่เกษตรกร หัวใจสำคัญ คือ ให้เกษตรกร เรียนรู้ที่จะจัดการและป้องกัน แก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น มีกรมฯ คอยสนับสนุน เช่น ตัวอย่างการจัดการหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ของ จ.ชัยภูมิ ผ่าน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน มี ศูนย์ส่งเสริมการอารักขาพืช สนับสนุนแมลงหางหนีบ และ ชุมชนนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์จนสามารถส่งต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เห็นผลในการจัดการศัตรูพืชโดยลดการใช้สารเคมีอีกทางหนึ่งด้วย
6. พัฒนาองค์กร ระบบการทำงาน และบุคลากร การให้ความสำคัญของ การพัฒนาเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งที่สะท้อนไปถึงเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม เช่น เกษตรกรรุ่นใหม่ ของ จ.สงขลา ที่มีแนวคิด มะพร้าว zero waste คือ ใช้ทุกส่วนของมะพร้าว แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลส่งความสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเปิดจุดบริการต่างๆ ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทาง โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการ ต่างๆ ของกรม 21 ศูนย์ ในเส้นทางหลัก ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ คอยให้บริการสำหรับ นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ทั้งให้ความรู้ ได้ถ่ายรูป แปลงเกษตรสวยๆ และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สามารถเข้าชมได้ตลอดทั้งปี ผ่าน Application “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” สามารถดาวโหลดได้ฟรี
และทั้งหมดภายใต้ 6 แนวทาง เป็นแนวปฏิบัติที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งต่อความสุขให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องตลอดปี 2563 นี้