นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตั้งเป้าหมายปฏิรูปการบริหารและการบริการของกระทรวงเกษตรฯ และภาคเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล วันนี้การขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ได้ปรากฎผลเป็นรูปธรรมสู่ยุคดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชั่น (Digital Transformation) เฟสที่ 1 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ด้วย 4 โครงการดิจิทัล ดังนี้
- โครงการบริการออนไลน์ ควิกวิน (22 Quick Win) แก่เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และสาธารณะ โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม Cluster เริ่มบริการ 1 มกราคม 2563 พร้อมกัน 22 หน่วยงาน
- โครงการ วันแอพ (One App) กระทรวงเกษตรได้พัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน ที่รวบรวมงานบริการด้านการเกษตร องค์ความรู้ด้านการเกษตร และเชื่อมโยงบริการโมบายกว่า 50 แอปพลิเคชันของทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงและสหกรณ์ มาไว้ในที่เดียวคือ แอปพลิเคชัน ”เกษตรดิจิทัล” เริ่มคิกออฟ 1 มกราคม 2563
- โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ใน 77 จังหวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร อีกทั้งยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรและสนับสนุนสตาร์ทอัพในแต่ละจังหวัด เป็นรูปแบบการบริหารจัดการในภูมิภาคมิติใหม่โดยความร่วมมือของ 6 ภาคีหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน เริ่มจัดตั้งตั้งแต่เดือนมกราคมให้แล้วเสร็จภายใน ปี พ.ศ.2563
- โครงการศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC) ซึ่งในวันนี้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติของ 10 หน่วยงานภาครัฐประกอบด้วย (1) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (2) กระทรวงการคลัง (3) กระทรวงดิจิทัล เพื่อ เศรษฐกิจและสังคม (4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม (5) กระทรวงพาณิชย์(6) กระทรวงอุตสาหกรรม (7) กระทรวงมหาดไทย (8) กระทรวงสาธารณสุข (9) สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (10) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า โดยเฟส 1 ตั้งแต่เดือนมกราคมเริ่มบริการฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจการเกษตร และข้อมูลครัวเรือนเกษตร ทั้งนี้ในเฟสที่ 2 จะเพิ่มฐานข้อมูลและเชื่อมฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ และนำระบบปัญญาประดิษฐ์( AI) มาใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล
“โครงการทั้ง 4 ดำเนินการมาโดยไม่ใช้งบประมาณใหม่จนแล้วเสร็จภายใน 120 วัน ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษคร 4.0 ซึ่งประกอบไปด้วย คณะอนุกรรมการรัฐบาลเทคโนโลยี่ (GovTech) และบิ๊กดาต้า (Big Data) คณะอนุกรรมการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) คณะอนุกรรมการเทคโนโลยีอนาคต (Future Tchnology) และคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)โดยความร่วมมือของศูนย์ไอที 22 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานรัฐหน่วยงานวิชาการหน่วยงานเอกชนพร้อมเปิดบริการเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคเกษตรกรรมสู่มิติใหม่ของไทยแลนด์4.0 นับได้ว่าปี 2563 คือปีแห่งเทคโนโลยีเกษตร(AgriTech 2020)“ นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด