ในที่สุด แผนงานวิจัย เรื่องการบูรณาการการพัฒนาปัจจัยการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริหารจัดการ การตลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดราชบุรี โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ก็สำเร็จลงด้วยดี มีการเปิดแถลงข่าวให้รับรู้ทั่วกันเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โดย นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธี โดยมี ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทนอธิการบดี ผศ.ดร.ชฎาพร โพคัยสวรรค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาและคณะอาจารย์ นักวิจัยร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลงานวิจัย
ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า การวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตสับปะรดจังหวัดราชบุรี ตลอดห่วงโซ่การผลิต มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดราชบุรี ซึ่งผลผลิตสับปะรดที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ และต้นทุนการผลิตที่สูง แผนงานวิจัย ประกอบด้วย โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาปัจจัยการผลิต จำนวน 7 เรื่อง ได้องค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนี้ 1) การขยายสายพันธุ์สับปะรด MD2 ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ การแคะหน่อและการตัดดอก 2) การบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต 3) สูตรปุ๋ยที่เพิ่มความหวานให้สับปะรด 4) การใช้ภูมิปัญญา ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและลดระยะเวลาการปลูก 5) การจัดการหน่อพันธุ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต 6) เว็บแอพลิเคชั่นสำหรับวางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดราชบุรีสู่ การเป็น smart farmer และ 7) เว็บแอพลิเคชั่นวัดความหวานผ่านสมาร์ทโฟน
โครงการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 11 เรื่อง ได้องค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนี้ 1) ความเป็นไปได้ เชิงพาณิชย์ของการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากสับปะรด 2) ผลิตภัณฑ์สบู่เอนไซม์สับปะรด 3) ผลิตภัณฑ์ผงบำรุงฟัน Bromedent 4) ผลิตภัณฑ์ผงขัดตัว 5) ผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่ม 5) ผลิตภัณฑ์ เจลให้พลังงานสูงสำหรับสับปะรด 6) ผลิตภัณฑ์ไซรัปสับปะรด 7) กล้าเชื้อแบคทีเรียสำเร็จรูปชนิดผงสำหรับ ผลิตน้ำไซเดอร์ 8) วัตถุดิบอาหารสัตว์ 9) ตราสินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น 10) บรรจุภัณฑ์เล่าเรื่อง 11) ถุงพลาสติกชีวภาพยืดอายุสับปะรด
โครงการวิจัยเพื่อบริหารจัดการการตลาด จำนวน 5 เรื่อง ได้องค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนี้ 1) ความต้องการซื้อสับปะรดผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป 2) ช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยเว็บไซต์พาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ 3) ช่องทางการจำหน่ายด้วยแพลตฟอร์มสมัยใหม่ต้นทุนต่ำ 4) ช่องทางการจำหน่ายแบบ ออฟไลน์ และ 5) รูปแบบการบริหารจัดการการขาย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาฐานข้อมูลสับปะรดจังหวัดราชบุรีในรูปแบบของ web interface เพื่อสนับสนุนการวางแผนการผลิตสับปะรดของจังหวัดราชบุรี
ทางด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่าจังหวัดราชบุรี เป็นดินแดนเกษตรที่สำคัญทั้งด้านการปลูกพืช ปศุสัตว์ รวมทั้งสัตว์น้ำ โดยทางจังหวัดมุ่งมั่นที่จะประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และขอชื่นชมมหาวิทยาลัยราชกัฎหมู่บ้านจอมบึงที่ทุ่มเททำงานวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง
ต่อมา ดร.พุทธพร พุ่มโรจน์ อาจารย์สาขาวิชาสัตวศาสตร์ ได้นำคณะจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยดังกล่าวนี้ พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ไปยังไร่แสนชมพู หมู่ 10 ต.บ้านคา เพื่อดูแปลงสาธิตสับปะรดที่เกี่ยวกับโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่ทำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ตำบลบ้านคา เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รูปแบบการจัดการน้ำ ที่เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดในแปลงตนเอง และการนำส่วนที่เหลือของสับปะรดมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้
ด้าน นายระดม แสนชมพู ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงส่งบุคลากรลงมา ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่โชคดี เพราะแปลงใหญ่ของเรารวมเกษตรกรแล้ว 40 กว่าราย พื้นที่ 300 กว่าไร่ จะมีทั้งเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีที่มาวิจัยกันตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์สับปะรด หรือการเอาส่วนเหลือจากสับปะรดมาทำอาหารสัตว์ หรือการใช้ระบบน้ำ การให้น้ำแบบประหยัดจะเห็นได้ทุกวันเลยว่า น้ำ เป็นสิ่งสำคัญ ตรงนี้อาจารย์ได้มาทำการทดลอง ส่วนการขยายพันธุ์ MD2 สัปปะรดพันธุ์ใหม่ นักวิชาการบอกว่าบางครั้งเราจะต้องนำพันธุ์ใหม่ๆเข้ามาในแปลงกันบ้าง โดยเฉพาะรสชาติและความต้องการของตลาด เพราะพันธุ์นี้สามารถเก็บไว้ได้นาน ตรงนี้ก็ได้ประโยชน์ขึ้นมาอีกเยอะ ดังนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากที่เกษตรกรชาวบ้านคา โดยเฉพาะกลุ่มสัปปะรดแปลงใหญ่ของบ้านคา ที่ได้รับความสนับสนุนความรู้และมาทำงานวิจัยร่วมกัน ทางเกษตรกรขอขอบคุณมหาวิทยาลัยและฝากให้พัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ