รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผนึกกำลังกูรูด้านการตลาดและการพัฒนาสินค้าร่วมแชร์ประสบการณ์ ดึงศักยภาพเกษตรกรอีสานใต้ พร้อมเสริมความรู้ด้าน FTA หวังติดปีกสินค้าเกษตรไทย ขยายส่งออกสู่ตลาดโลก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานีว่า กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรไทยสามารถพัฒนาผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และใช้ประโยชน์จาก ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งการตลาด การพัฒนาสินค้า และข้อมูลเอฟทีเอ มาแบ่งปันประสบการณ์กับเกษตรกรกลุ่มภาคอีสานใต้ 4 จังหวัด ทั้งอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ ที่เข้าร่วมกว่า 150 คน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนานำสินค้าเกษตรของตนมาให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการตลาด ซึ่งมีผู้สนใจร่วมนำผลิตภัณฑ์ อาทิ ข้าวอินทรีย์ ชาหอมแดง น้ำมันรำข้าว มัลเบอรี่แปรรูป ผ้ากาบบัว และผ้าไหม มาให้วิเคราะห์อย่างคึกคัก ทั้งนี้ ตนตั้งเป้าว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสภาเกษตรกรแห่งชาติครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้แก่เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ เสริมว่า นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนโคขุนสมุนไพรดอนมดแดง ที่ผลิตอาหารสัตว์เองจากแปลงข้าวโพดและแปลงหญ้าของเกษตรกร ทำให้สามารถลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพของเนื้อโคขุนได้ และมีโอกาสที่จะพัฒนาแม่พันธุ์โค และโคขุน คุณภาพพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก ซึ่งตนได้แนะนำเกษตรกรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล รวมถึงให้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอมาสร้างแต้มต่อทางการค้าและขยายตลาดส่งออก โดยขณะนี้ประเทศคู่ค้าของไทย เช่น อาเซียน และจีน ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าโคเนื้อส่งออกจากไทยแล้ว ซึ่งตนมองว่าหากเกษตรกรสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าโคเนื้อของไทยให้ตอบสนองความต้องการของตลาด มีกระบวนการผลิต และโรงงานชำแหละที่ได้มาตรฐาน GMP ฮาลาล และความปลอดภัย สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น เนื้อชาบูสไลด์แช่แข็งพร้อมบริโภค เนื้ออบกรอบ เป็นต้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์โคเนื้อของไทยมีโอกาสสูงในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2562 ไทยส่งออกโค/กระบือมีชีวิตสู่ตลาดโลก 192.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 30 มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ลาว สัดส่วนร้อยละ 95 ของการส่งออกโคกระบือมีชีวิตทั้งหมดของไทย รองลงมาคือ มาเลเซีย สัดส่วนร้อยละ 4 เวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 1 กัมพูชา สัดส่วน ร้อยละ 0.1 และ เมียนมา สัดส่วน ร้อยละ 0.04
นายวีรศักดิ์ เพิ่มเติมว่า ยังได้ใช้โอกาสนี้ลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร เพื่อเยี่ยมชม การดำเนินการ ณ ที่ด่าน และได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายเวลาทำการของด่านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอีกด้วย โดยจุดผ่านแดนช่องเม็กถือเป็นจุดผ่านแดนที่สำคัญติดกับเมืองปากเซ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของ สปป. ลาว รองจากนครหลวงเวียงจันทน์ และสะหวันนะเขต อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังเวียดนามตอนใต้ และกัมพูชาตอนเหนือได้ ปัจจุบัน การค้าชายแดนที่จุดผ่านแดนนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 8,500 ล้านบาท เป็นการนำเข้า 2,300 ล้านบาท และส่งออก 6,200 ล้านบาท สินค้าหลักที่มีการซื้อขายที่ชายแดนของไทย ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์และส่วนประกอบ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ สินค้าปศุสัตว์ เครื่องรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ เป็นต้น