เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย หรือที่ชาวสระบุรีเรียกขานว่า “ส.ส.นก” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดสระบุรี พรรคพลังประชารัฐ และมีบทบาทในสภาในฐานะประธาน กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมกับชาวบ้านเกี่ยวข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ที่ตนเองได้ปลูกขึ้นเมื่อวันแม่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ แปลงนา ต.ดาวเรือง อ.เมือง จ.สระบุรี
ส.ส.นกเล่าว่าในช่วงที่ตกงาน (ช่วงรัฐบาลคสช.) ได้ทำให้มีเวลาคิด…ก็มองว่าภาคเกษตรคือหัวใจของประเทศไทย แต่ตัวเองนั้นไม่ได้ทำเคยทำเกษตรมาก่อน ก็เลยคิดว่าจะต้องลองทำดูบ้าง
เธอใช้พื้นที่ 4 ไร่เศษ(ต่อมาเพิ่มเป็น 7 ไร่) จัดการออกแบบสวนเกษตรตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ มีพื้นที่น้ำเลี้ยงปลา(และน้ำใช้ในสวน) พื้นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินปลูกพืชผักผลไม้ และพื้นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ “คิดว่าทำเกษตรต้องมีน้ำไว้ใช้จึงขุดสระน้ำก่อนเลย”
พื้นที่สระน้ำมีถึง 1 ใน 3 ส่วน ทำเป็นคลองไส้ไก่ มีสระน้ำ 4 สระ เชื่อมถึงกันกับสระใหญ่ที่เป็นรูปหัวใจ คดเคี้ยวไปมาเพื่อให้เข้าถึงแปลงปลูกพืชชนิดต่างๆ เรียกว่าให้ความสำคัญกับการออกแบบแปลงเกษตรพอสมควร และตั้งชื่อว่า “สวนอยู่เย็นเป็นศุข”
“เรารักพระองค์ คิดถึงพระองค์ เป็นความรู้สึก แต่ถ้าจะให้เป็นนามธรรมก็คือทำตามพระองค์ท่าน…เดินตามรอยพระราชา(ศาสตร์พระราชา)” ส.ส.นก กล่าวและบอกว่าสวนอยู่เย็นเป็นศุข คือที่พักผ่อนหย่อนใจในยามที่เหนื่อยล้ากับการทำงานสภา “เป็นที่ชาร์ตแบตเพื่อมีพลังไว้ทำงานให้ส่วนรวมค่ะ”
สำหรับการปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักที่ปลูกเป็นประจำทุกปีตั้งแต่เริ่มทำเกษตรมาก็คือข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม ที่เริ่มสูญหายไปจากท้องนาและชาวนาเนื่องจากไปปลูกข้าวชนิดอื่นที่ตลาดนิยมในวงกว้าง แต่ต่อมาข้าวเจ๊กเชย ได้รับจดทะเบียนเป็นข้าวที่ปลูกเฉพาะถิ่น และได้รับ GI (Geographic Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปี 2554 ทำให้ตลาดของข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ได้รับความนิยมขึ้นมาอีกครั้ง
“ในฐานะส.ส. จังหวัดสระบุรี มองว่าข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ เป็นข้าวประจำถิ่นที่อาจไม่แพร่หลายและมีราคาดีเท่ากับข้าวตลาด แต่ก็พยายามทางแปรรูปให้มีมูลค่า เพราะข้าวเจ๊กเชยมีคุณสมบัติมีค่าน้ำตาลต่ำ ดีต่อสุขภาพ และหุงขึ้นหม้อ เนื้อข้าวเหนียว นุ่ม เคี้ยวหนึบ ไม่เละ สามารถหุงทิ้งข้ามคืนไม่บูด เพราะน้ำตาลน้อย และถ้าเอาไปทำข้าวราดแกงจะไม่ยุบตัวง่าย ทำให้ข้าวเจ๊กเชยได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ” ส.ส.นก กล่าวและบอกว่าที่มาเกี่ยวข้าวในวันนี้ เพราะต้องการสืบสานประเพณีเกี่ยวข้าวให้เห็นถึงพลังของพี่น้องเกษตรกรที่มีมาแต่ไหนแต่ไร
สำหรับข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงปลูกในช่วงฤดูนาปี ในพื้นที่ปลูก 7 อำเภอของจังหวัดสระบุรี ได้แก่ อำเภอเสาไห้ อำเภอเมือง หนองแซง วิหารแดง หนองแค หนองโดน และอำเภอดอนพุด จึงถือเป็นข้าวประจำถิ่นและควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้สืบทอดต่อไป