กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ดูแลเกษตรกรหยุดเผาเข้มข้น อบรมเกษตรกรสร้างวิทยากรเกษตรปลอดการเผาแล้วกว่า 1 หมื่นราย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้สั่งการไปยังจังหวัดแล้ว ให้เร่งดำเนินการควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตรในความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด และเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในเวทีถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ตลอดจนให้การสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ได้แก่ การส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมพื้นที่เพาะปลูก โดยวิธีการไถกลบตอชังทดแทนการเผา การส่งเสริมการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การปลูกเห็ดฟาง การผลิตอาหารสัตว์ การทำถ่านอัดแท่ง หรือของประดับ เป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถดาวน์คู่มือและคำแนะนำในการทำเกษตรปลอดการเผาได้ที่ http://www.royalagro.doae.go.th/?page_id=3794 พร้อมกันนี้
กรมส่งเสริมการเกษตร นำมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อ.พ.ก.) และคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation, CoO) เพื่อยกระดับความร่วมมือและความสำคัญ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนหากพบการเผาเศษวัสดุในพื้นที่การเกษตรให้แจ้งเหตุไปยังสายด่วนฉุกเฉิน ๑๗๘๔ (ตลอด ๒๔ ชั่วโมง) สำหรับทุกพื้นที่ หรือ ๑๓๖๒ (ตลอด ๒๔ ชั่วโมง) สำหรับพื้นที่ป่า
ล่าสุดในปีที่ผ่านมา (ปี 2562) กรมส่งเสริมการเกษตรตลอดจนหน่วยงานในสังกัดระดับพื้นที่ดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรแล้ว จำนวน 15,720 ราย เพื่อสร้างเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผา รวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบ 166 แห่ง ดำเนินการในพื้นที่ 26 จังหวัด ประกอบด้วย 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา ตาก และอุตรดิตถ์ และ 16 จังหวัดที่มีการเผาในพื้นที่การเกษตรสูง ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี ตลอดจนได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานรณรงค์ในท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ช่วงวิกฤตหมอกควันภาคเหนือ จัดทำแปลงนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ได้แก่ การไถกลบตอซัง 135 แห่ง 4,110 ไร่ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี คิดเป็นมูลค่า 1,407,144 บาท การผลิตปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยพืชสด/วัสดุเพาะปลูก 307 แห่ง 71,872 กิโลกรัม สร้างรายได้ 287,488 บาท การเพาะเห็ด 10,100 กิโลกรัม สร้างรายได้ 1,515,000 บาท การผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด 1,150 กิโลกรัม สร้างรายได้ 23,000 บาท และการปลูกพืชทางเลือก 14 แห่ง 35 ไร่ สำหรับปี 2563 นี้ เริ่มดำเนินการอบรมเกษตรกรแล้ว โดยวางแผนสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบรวมทั้งสิ้น 210 แห่ง และสร้างเกษตรกรเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผารวมทั้งสิ้น 16,800 ราย ซึ่งจะต่อยอดขยายผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป