เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

อยากรู้เรื่อง ? ..

การปลูกสวนป่าไม้มีค่า…ปลูกป่าในใจคน ตามในหลวงรัชกาลที่ 9…เพาะเลี้ยงเห็ดเผาะใต้ต้นยางนา…อยากปลูกต้นไม้บนคันนา…Park Model การออกแบบอุทยานสวนป่าทันสมัย…และอื่นๆ อีกมากมาย….

ทุกคำตอบของคำถามสามารถหาได้ที่ ศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน ตั้งอยู่เลขที่ 300 หมู่ที่ 10 ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เพราะในวันนี้คือ หนึ่งในศูนย์กลางเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยางนา อันเป็นที่มาของฉายามนุษย์ยางนาของเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของ นายณรงค์ สังขะโหปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้

“เราทำไปศึกษาไป ตอนนี้เรามีนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกป่ากว่า 700 นวัตกรรมที่พร้อมให้ผู้สนใจมาศึกษาเรียนรู้” เกษตรกรเจ้าของสวนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า อาจารย์ณรงค์บอกกล่าว ภายหลังเลิกจากงานประจำที่ทำงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาสามง่ามท่าโบสถ์ ซึ่งวันนี้อาจารย์ณรงค์ยังทำงานที่นี่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการควบคู่ไปกับการเปิดแหล่งเรียนรู้เรื่องสวนป่าไม้มีค่าบนพื้นที่ 17 ไร่ที่มีไม้มีค่ามากกว่า 20,000 ต้นขึ้นเต็มพื้นที่

แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้มาอย่างยาวนานจนวันนี้สามารถขยายผลการปลูกป่าให้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ผู้คนที่สนใจต่างพากันเดินทางมาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

“ยิ่งเสาร์อาทิตย์คนยิ่งเยอะ”

ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้

ปลูกไม้มีค่าเลือกชนิดไหน อย่างไรดี?

“เพราะวันนี้โลกเชื่อมกัน มนุษย์เชื่อมกัน สิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่งเชื่อมกัน ต้องเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะต้นไม้ต้นหนึ่งวันนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่เป็นของมวลมนุษยชาติทุกคน ต้นไม้เป็นทรัพย์ที่สำคัญ ต้นไม้เป็นอุปกรณ์ ต้นไม้เป็นเครื่องมือ ต้นไม้เป็นผู้ควบคุมอุณหภูมิ ให้ความชุ่มชื้น ให้อากาศ ให้สิ่งต่างๆมากมายในทุกมิติ ฉะนั้นต้นไม้จึงสำคัญมาก การตัดต้นไม้ต้นหนึ่งจะสร้างผลกระทบต่อทุกคน” อาจารย์ณรงค์ ได้บอกถึงความสำคัญของต้นไม้

อาจารย์ณรงค์ เน้นย้ำว่า ต้นไม้ คือ ไม้มีค่า คืออนาคตที่พร้อมสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูก ทั้งนี้ ไม้มีค่า คือ คำที่ใช้เรียกต้นไม้เชิงเศรษฐกิจทุกชนิดที่ตลาดต้องการ

แล้วการจะเลือกปลูกไม้มีค่าอย่างไรนั้น อาจารย์ณรงค์ให้ข้อแนะนำว่า ขอให้พิจารณาจากสภาพพื้นที่ของตนเองเป็นหลัก

ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้

“ที่ลุ่มปลูกไม้ลุ่มอย่างตะเคียน จำปา พยุง ที่ดอนปลูกไม้ดอน ที่หนาวปลูกไม้หนาว ที่แล้งปลูกไม้แล้ง ถ้าเป็นที่ไม่สมบูรณ์มีหินเยอะให้ปลูกยูคา ที่ร้อนที่แล้งปลูกประดู่ มะค่า พยุง ชิงชัน ไผ่ เป็นต้น”

“วันนี้ตลาดไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ต่างประเทศต้องการมาก อย่างพยุง จีนต้องการมาก ถ้าเป็นไม้ตะเคียนตลาดก็จะมีประเทศทางยุโรป อย่างเยอรมัน รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย”

ดังนั้นในแง่ของไม้มีค่าที่ปลูกเชิงเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณาจากพื้นที่และความต้องการของตลาดที่เราจะสามารถติดต่อได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ณรงค์ให้ข้อแนะนำคือ การปลูกให้ได้ไม้สวย ต้นเปลาตรง

“อย่างต้นพยุงมีคนถามกันมากว่า ทำอย่างไรให้ต้นเปลาตรง ซึ่งในพื้นที่ศูนย์ฯแห่งนี้เราได้มีการศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการปลูกไม้ให้เปลาตรง โดยหนึ่งในเทคนิคที่ได้คือ ระยะปลูก ถ้าปลูกในระยะที่ถี่เท่าที่สังเกตต้นจะเปล้าตรงสวย”

“สำหรับระยะปลูกที่ศูนย์ฯแห่งนี้เรามีให้ดูตั้งแต่ห่างกันคืบหนึ่ง ห่างกัน 30 เซนติเมตร  ห่างกัน 60 เซนติเมตร ห่างกัน 1 เมตร ไปจนถึงห่างกัน 1.50 เมตร สามารถให้ทุกคนมาศึกษาและตัดสินใจได้เอง เพราะในการปลูกต้นไม้นั้นไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่เท่ากับธรรมชาติของเขาเอง ดังนั้นเราต้องรู้เท่ากันกับความจริงของธรรมชาติ” อาจารย์รณงค์ กล่าว

ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้

เผยเทคนิคการปลูกต้นไม้มีค่า

อีกเทคนิคจากคำบอกเล่าของอาจารย์ณรงค์นั่นคือ การทำให้ต้นกล้าไม้มีคุณภาพ โดยที่ศูนย์ฯแห่งนี้จะทำการผสมเชื้อราไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) ลงไปในดินปลูกต้นกล้า ซึ่งเชื้อราดังกล่าวจะเป็นต้นกำเนิดการสร้างเห็ดที่เรารู้จักกันดีนั่นคือ เห็ดเผาะ

“ไม่ใช่ได้แต่เห็ดเผาะเท่านั้นแต่ยังทำให้รากกล้าไม้ของเราได้อาหารด้วย ต้นกล้าของผมทุกต้นจึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับรากลงดิน เพราะในถุงดำที่ใช้เพาะมีอาหารมากเพียงพอ ดังนั้นไม้ทุกต้นจึงไม่มีปัญหารากขาด นำไปปลูกแล้วเจริญเติบโตดี”

ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้

อีกหนึ่งข้อแนะนำ คือ เทคนิคการปลูก อาจารย์ณรงค์ให้ข้อมูลว่า สำหรับการนำต้นกล้าไม้มีค่าลงปลูกนั้นมีหลักการอยู่มากมาย แต่สามารถสรุปได้ง่ายๆว่า

“โดยหลักของธรรมชาติดินที่ดีที่สุดคือดินชั้นบน หลักต่อมาคือ ไม้มีค่าส่วนใหญ่จะเป็นไม้ที่มีรากลึก หลักการต่อมาคือ เรื่องของสภาพแวดล้อม จะต้องมีตัวช่วยคือ มีเชื้อราไมคอร์ไรซา หลักที่สี่ คือ ช่วงเวลาความพร้อมของธรรมชาติ ซึ่งช่วงการปลูกไม้ดีที่สุดคือในช่วงหน้าฝน ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ และหลักการที่ห้า คือ การออกแบบสวน เพื่อให้สามารถมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจได้อย่างไร”

“ช่วงที่ฝนฉ่ำหรือฝน 3 จะดีมาก คือในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม และสิงหาคม เป็นช่วงเหมาะสำหรับการปลูกมากที่สุด”

“ในการนำกล้าไม้ลงปลูกนั้นผมขอแนะนำว่า ให้ขุดหลุมไม่ต้องลึกมากเอาแค่พอสมควร โดยถุงดำที่เพาะต้นกล้านั้นจะสูงประมาณ 6 นิ้ว ให้ขุดดินลึกประมาณ 12 นิ้วก็เพียงพอแล้ว ส่วนความกว้างไม่ต้องมาก เพราะยิ่งกว้างยิ่งไม่มีประโยชน์ หลังจากขุดแล้วให้ใส่ปุ๋ยรองพื้น ซึ่งสามารถเลือกได้ตามสะดวกว่าจะใช้ปุ๋ยเคมีอย่างสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักก็ได้”

“แต่ที่ผมทำและใช้ทุกวันนี้จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นหลัก เพราะต้องการให้ต้นกล้าได้ปุ๋ยได้ธาตุอาหารโดยไว เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตแข็งแรงเร็ว หรือที่ผมเรียกว่า รากติดยอดแตก จะทำให้สามารถผ่านหน้าแล้งไปได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องสังเกตดูโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ที่ต้องประสบปัญหาแล้งจัด ช่วงนั้นต้องมีการช่วยบำรุงต้นที่ปลูก ”

“จากนั้นให้เอาดินใส่ลงไปหนึ่งกำมือ เพื่อป้องกันไม่ให้รากต้นไม้ไปสัมผัสกับปุ๋ยรองพื้นที่ใส่โดยตรง จากนั้นกรีดถุงเอาต้นกล้าไม้ลงปลูก ถ้าในถุงต้นกล้าไม่มีเชื้อไมโครไรซา ให้ใส่เติมลงไปตอนนี้ จากนั้นเอาดินกลบให้เต็มหลุม และเหยียบให้พอแน่น”

“การที่เราต้องเหยียบดินรอบโคนต้นกล้าไม้ให้แน่นนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยในการรักษาอากาศ รักษาความชื้น และรักษารากไม้ ทำให้รากไม่ขาด ต้นไม้ล้ม แม้จะโดนลมก็ไม่ล้ม วิธีการแบบนี้จะทำให้ต้นติดดี และรากสามารถหาอาหารได้ดี” อาจารย์ณรงค์ กล่าว

ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้

อีกสิ่งที่สำคัญและอาจารย์ณรงค์ได้เน้นย้ำคือ การป้องกันไฟป่า โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และมกราคม ต้องมีการวางแผนจัดการและป้องกันไฟลามเข้าจุดที่ปลูกต้นไม้

“ในวันนี้ผมยังแนะนำว่า ควรที่จะใช้คันนาสร้างเงินด้วยการปลูกไม้มีค่า อย่างเช่นไม้ยางแบบที่ศูนย์ฯแห่งนี้ทำอยู่ทุกวันนี้ ขอเพียงปรับเปลี่ยน เอาพื้นที่คันนามาปลูกต้นไม้ จะปลูกแบบคันนาล้อมรอบ หรือปลูกแบบกั้นกลางก็ได้ แล้วปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะให้รายได้วันละ 1 บาท ถ้ามี 1,000 ต้น แสดงว่า จะได้เงินวันละ 1,000 บาท หรือปีละ 360,000 บาท ปลูกไว้ 10 ปี ก็จะมีเงินอยู่บนคันนาไม่ต่ำกว่า 3,600,000 บาท ทำให้ทุกคนมีโอกาส อยู่ที่เราเท่านั้นว่าจะทำหรือไม่ ” อาจารย์ณรงค์ กล่าว และว่า

“แต่ก็มีคำถามมาว่า ถ้าคันนาเล็กไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้แล้วแบบนี้จะทำอย่างไร อันนี้ขอบอกว่า ให้ใช้วิธีการจัดการ โดยทำในช่วงหน้าแล้ง เพราะเป็นช่วงที่ดินแห้ง จัดการง่าย ต้นทุนต่ำ โดยใช้ผาน 3 ติดรถไถแล้วไถในนาแล้วดันมาเป็นคันนา โดยขนาดที่อยากแนะนำคือ ให้ทำคันนาขนาดกว้าง 3 เมตร เพื่อให้เป็นถนนไปด้วยในตัว รถจะเข้ามาวิ่งได้ด้วย” อาจารย์ณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ที่มีอยู่มากมายในศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จนแห่งนี้ ที่พร้อมเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยหากไปไม่ถูกสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 08-9612-4007 แล้วจะรู้ว่า ความสุขจากการปลูกสร้างป่านั้นยอดเยี่ยมอย่างไร

ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้
ปลูกไม้มีค่าแก้หนี้ กับมนุษย์ยางนาแห่งชัยนาท บทเรียนล้ำค่าที่ทุกคนทำได้
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated