เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีเกษตรกรประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม สามารถผลิตน้ำนมดิบคุณภาพส่งจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง จนถือเป็นหนึ่งในอาชีพสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ดังจะเห็นได้จากคำขวัญประจำอำเภอแม่ออนที่ว่า
“ผาตั้งธาตุคู่เมือง รุ่งเรืองฟาร์มโคนม รื่นรมย์น้ำพุร้อน เมืองออนถ้ำแสนงาม”
การประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมในอำเภอแม่ออน มีการพัฒนายกระดับมาตรการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี สหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด เลขที่ 125/2 หมู่ที่ 9 ตำบลดอนกลาง อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โทร.0-5385-9425, 08-1716-5679 เป็นศูนย์กลางการแห่งการพัฒนา ภายใต้การดำเนินงานการบริหารของคณะกรรมการสหกรณ์ที่มี นายสวรรค์ ใจจา เป็นประธานสหกรณ์ และ นายคเชนทร์ ณ นคร เป็นรองประธานสหกรณ์
“เพราะเป้าหมายสำคัญของสหกรณ์ คือ รักษาอาชีพโคนมให้มั่นคงและยั่งยืน”
นั่นคือสิ่งที่ นายคเชนทร์ รองประธานสหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด ได้บอกกล่าวในการตอบคำถามถึงสิ่งที่ทำให้สหกรณ์มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์โคนมผาตั้งจำกัด มีสมาชิกจำนวน 58 ฟาร์ม จำนวนโคนมรวมทั้งหมด 2,100 ตัว
ทุกหน่วยงานช่วยสนับสนุน
โดยการดำเนินงานของสหกรณ์ ได้เปิดกว้างและร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนา อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาแม่ออน ที่วันนี้ได้เดินหน้าให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อการพัฒนาภายใต้โครงการต่างๆ พร้อมทั้งยกให้สหกรณ์โคนมผาตั้ง เป็นสหกรณ์หัวขบวนต้นแบบการพัฒนา ให้สหกรณ์อื่นๆได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ยกระดับการดำเนินงาน เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนเฉกเช่นสหกรณ์โคนมผาตั้งแห่งนี้
นายวรินทร์ วรรณรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาแม่ออนกล่าวว่า ทางธ.ก.ส.สาขาแม่ออนได้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือดูแลสหกรณ์โคนมผาตั้งมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเงินทุนดอกเบี้ยต่ำภายใต้โครงการต่างๆ รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาด้านแผนพัฒนาสหกรณ์ในด้านต่างๆ เห็นการเติบโตอย่างเข้มแข็งของสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดทางสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่านโครงการประชารัฐของรัฐบาลอีกเป็นจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในอีกหลายๆด้าน
ทั้งนี้ นายคเชนทร์ บอกว่า ด้วยสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นฟาร์มเลี้ยงโคนมขนาดเล็ก ซึ่งการจะพัฒนายกระดับให้กลายเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่นั้น จำเป็นต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก ซึ่งผู้เลี้ยงโคนมทุกคนจะเข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี
“ปัญหาของการเลี้ยงโคนมที่พบในสมาชิกของสหกรณ์ คือการผลิตน้ำนมมีต้นทุนที่สูงโดยเฉพาะต้นทุนค่าอาหารทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น อีกทั้งเกษตรกรมีพื้นที่เลี้ยงโคนมจำกัด และที่สำคัญอีกประการคือ เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงโคนมในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีการลงทุนที่สูงมากสำหรับการเลี้ยงลูกโคนม โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกหลังคลอด หรือที่เรียกว่า โคกินฟรี ซึ่งในฟาร์มของเกษตรกรจะมีโคกินฟรีอยู่ประมาณ 58 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนโคนมที่เลี้ยงทั้งหมด ตรงนี้คือปัญหาสำคัญที่ทางสหกรณ์มองว่าต้องดำเนินการแก้ไข และหากทำได้จะเป็นการช่วยในด้านการลดต้นทุนการเลี้ยงให้กับเกษตรกรสมาชิกได้เป็นอย่างดี”
การช่วยเหลือให้เกษตรกรสมาชิกให้หลุดพ้นจากปัญหาที่ส่งเสริมกระทบดังกล่าวได้ ทั้งด้านการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากการจัดการอาหารที่ดี ช่วยสมาชิกด้านราคาและการซื้อขายเงินเชื่อเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการผลิต นอกจากการสนับสนุนให้เกษตรกรสมาชิกพัฒนาระบบการเลี้ยง โดยเฉพาะด้านอาหารที่ส่งเสริมทั้งการปลูกพืชอาหารหยาบคุณภาพดีแก่สมาชิก เช่น หญ้าพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 2 ส่วนอาหารข้นสนับสนุนให้เกษตรกรสมาชิกใช้อาหารทีเอ็มอาร์ (TMR) โดยสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) ซึ่งช่วยลดปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์คุณภาพดี และช่วยลดต้นทุนให้สมาชิกด้วย
ธนาคารโคนมทดแทนฝูง ต้นแบบความสำเร็จ
อีกหนึ่งโครงการที่ดำเนินการคือ การจัดตั้งธนาคารโคนมทดแทนฝูง ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด เป็น 1 ใน 3 สหกรณ์จากทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือก ให้เข้าร่วมโครงการ
สำหรับธนาคารโคมนมทดแทนฝูงของกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2559 มีเป้าหมายเพื่อทำให้สมาชิกสหกรณ์โคนมบริหารจัดการโคนมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของน้ำนม
โดยการเลี้ยงโคนมทดแทนฝูงดำเนินการในลักษณะฟาร์มรวมและบริหารโดยสหกรณ์ ในรูปแบบธนาคารโคมนมทดแทนทำหน้าที่รับฝากลูกโค–โครุ่นตัวเมีย มาบริหารจัดการที่ฟาร์มกลางของสหกรณ์ เพื่อเลี้ยงดูตามหลักวิชาการ การให้อาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยของโค จนโคเติบโตเป็นโคสาวและท้องเป็นเวลา 5 เดือน จากนั้นจึงจะให้สมาชิกมาไถ่ถอนคืนได้ หรือขายให้แก่เกษตรกรรายอื่น
ซึ่งการไถ่ถอนคืนโคสาว สมาชิกอาจชำระเป็นเงินสด เป็นสินเชื่อ หรือให้หักจากค่าน้ำนมดิบที่นำมาขายให้สหกรณ์ก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์
การที่สหกรณ์โคนมผาตั้งจำกัด ได้ดำเนินโครงการนี้มาได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรสมาชิกอย่างมาก โดยเฉพาะการสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรับภาระเลี้ยงดูลูกโค เมื่อลูกโคเข้าสู่ระบบฟาร์มกลางของสหกรณ์จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีตามหลักวิชาการ ส่งผลให้มีอัตราการเจริญเติบโตและสมบูรณ์สูงกว่าการเลี้ยงเองที่ฟาร์มของเกษตรกร และยังเพิ่มโอกาสในการผสมเทียมติดเร็วขึ้น ซึ่งหมายถึงเกษตรกรจะมีรายได้จากการรีดนมได้เร็วขึ้นเช่นกัน
ขณะเดียวกันการเลี้ยงโคนมที่ถูกหลักวิชาการนั้น ยังทำให้โคสาวสามารถเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ย 1-3 กก./ตัว/วัน นอกจากนี้ การที่เกษตรกรนำลูกโคเข้ามาฝากที่ธนาคารฯ จะส่งผลให้มีเวลาในการดูแลฟาร์มโคของตนเองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งยังเป็นการช่วยลดภาระและช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
“ในการดำเนินงานธนาคารโคมนมทดแทนฝูงนั้น สหกรณ์จะซื้อโคนมอายุประมาณ 6 เดือน หรือโคสาว จากเกษตรกรสมาชิก ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท โดยสหกรณ์จะนำมาเข้ามาเลี้ยงคอกรวมทีมีระบบการจัดการอย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลตัวโค การจัดการด้านต่างๆ โดยสหกรณ์จะเลี้ยงจนกลายเป็นโคสาวอุ้มท้องที่อายุประมาณ 18 เดือน ซึ่งมีการผสมเทียมโดยมีการเหนี่ยวนำการสัดเป็นสัด เพื่อให้ได้โคสาวตั้งท้องที่ 5 เดือน จากนั้นขายคืนให้กับสมาชิกหรือเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมในที่อื่นๆ โดยการขายคืนนั้นเกษตรกรจะจ่ายเป็นเงินสดหรือหักจากค่าน้ำนมก็ได้”
สำหรับเงินทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆในธนาคารโคนมทดแทนฝูง สหกรณ์ได้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และธ.ก.ส.ที่มีโครงการต่างๆเข้ามาช่วยเหลือสมาชิก จนสามารถทำให้ดำเนินการในระดับที่ประสบความสำเร็จมาได้ถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญยังสามารถส่งเงินกู้ที่นำมาใช้ในโคการให้กับทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตามที่กำหนดทุกปี
“มาถึงเวลานี้ สหกรณ์สามารถส่งคืนโคสาวตั้งท้องคุณภาพดีคืนให้กับเกษตรกรสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัว ตรงนี้ทำให้รายได้ของเกษตรกรสูงขึ้น เพราะไม่ต้องมีโคกินฟรีอยู่ในฟาร์มเยอะเกิน จากเดิมที่มีถึง 58 เปอร์เซนต์ ตอนนี้เหลือลงเหลือเพียง 37 เปอร์เซ็นต์ มีเฉพาะลูกโคเล็กแรกเกิดถึง 6 เดือน โคสาวท้องและโคพักการรีดนม หรือโคดรายที่ท้องแล้วเท่านั้น” นายคเชนทร์ กล่าวในที่สุด
วันนี้ สหกรณ์โคนมผาตั้ง จำกัด จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่นำมาซึ่งความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคนมให้กับสมาชิกสหกรณ์ทุกคนอย่างยั่งยืน…