นายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอกลไกการขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดและเลิก ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในเขตอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศเริ่ม 1 มกราคม 2563
ในส่วนนี้ อุทยานศรีน่านได้เตรียมความพร้อมไว้ในระดับหนึ่ง และได้ทำการประชาสัมพันธ์กิจกรรมรณรงค์งดใช้ ถุงพลาสติก หรือ พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว และ กิจกรรม “ขยะคืนถิ่น” โดยนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอรับ Green Heart Passport สะสมตราประทับแลกรับรางวัล ตามกติกา “ไม่สร้างขยะ” ใช้ปิ่นโตใส่อาหาร ใช้ถุงผ้า แทนถุงพลาสติก ขณะเดียวกันทางอุทยานศรีน่านได้เตรียมแก้วน้ำกระบอกไม้ไผ่ จาน-ชาม ภาชนะที่ทำจาก กาบไม้ไผ่ ใบกล้วย และใบตองตึง ผลิตภัณฑ์ชุมชนรอบๆอุทยานศรีน่านไว้บริการนักท่องเที่ยว
นายบัญฑิต เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ “จาน ชาม กาบไผ่ และใบตอง ของชุมชนรอบๆอุทยานศรีน่าน เกิดขึ้นจาก การทำงานร่วมกันของอุทยาน กับ ผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยและคณะ ที่เข้ามาทำวิจัย “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตเกษตรกรบนพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน” โดยการสนับสนุนของ สำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในพื้นที่ บ้านวนาไพร บ้านหนองผำ และบ้านน้ำปี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับอุทยาน เมื่อปีที่ผ่านมา
ผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์กาบไผ่และใบตองตึง เป็นกระบวนการ พัฒนาต้นแบบของนวัตกรรมทางสังคมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะการค้นหาต้นแบบที่เหมาะสม จะนำไปสู่ การพัฒนาและทดสอบ 3 กิจกรรม คือ ต้นแบบการจัดการน้ำ ต้นแบบการจัดการข้าวต้นแบบ การทำอาชีพเสริม สำหรับผลิตภัณฑ์กาบไผ่และใบตองตึง อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องขึ้นรูปภาชนะของพระอาจารย์วิจิตร วัดถ้ำกระบอก และ ผศ. ดร. สุพิณ แสงสุข สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในส่วนของคุณภาพ รูปแบบ และลดต้นทุนการผลิต ที่ปัจจุบันบ้านวนาไพรผลิตชามกาบไม้ไผ่ได้ ประมาณ 200 ใบ เฉลี่ยต้นทุนใบละ 2 บาท ซึ่งถือว่าน้อย ไม่เพียงพอ กับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อุทยานศรีน่าน ในช่วง ฤดูหนาวนี้ และต้นทุนที่ยังสูงกว่าท้องตลาดประมาณ เท่าตัว
อย่างไรก็ดี ผลสัมฤทธิ์ที่ทีมวิจัยคาดว่าจะได้รับ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของเกษตรกร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างชุมชนกับอุทยาน (co-management) โดยชุมชนที่อยู่รอบอุทยาน จะรักษาทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่อุทยานสามารถส่งเสริมอาชีพเสริมสำหรับชุมชนอีกทางหนึ่ง