ธ.ก.ส จับมือคูโบต้าและยันม่าร์ สร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรสำหรับการทำการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย สะดวก ประหยัด เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต พร้อมสนับสนุนสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์ วงเงิน 15,000 ล้านบาท
วันนี้ (9 มกราคม 2563) ณ โถงชั้น 2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน กรุงเทพ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์” ระหว่าง นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กับ นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด – นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด และนายชินจิ สุเอนางะ ประธานบริหารบริษัท ยันม่าร์ เอส พี จำกัด – นายทาคาชิ โยชิดะ ประธานบริษัท ยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ มีโอกาสในการเลือกใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ทดแทนแรงงาน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. มีนโยบายส่งเสริมการปฏิรูปภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืนภายใต้หลัก ปรับ เปลี่ยน พัฒนา โดยเฉพาะการปรับการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยยกระดับการทำเกษตรกรรมในทุกรูปแบบที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. จึงได้ทำโครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์ โดยร่วมกับเครือบริษัทคูโบต้าและยันม่าร์ ในการสนับสนุนเกษตรกรให้มาเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Agri-Tech) แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และการทำการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ หรือการปลูกพืชตามแผนที่เกษตร (Agri-Map) เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งเปลี่ยนการผลิตการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร (Value Added) ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกรลูกค้า หรือผู้ที่มีความสนใจ โดยสามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว นำไปเป็นเงินทุนจัดซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ ในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงซ่อมแซม และการจัดหาอุปกรณ์พ่วงหรือเสริมให้เครื่องจักรนั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR-1 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.875 ต่อปี) ระยะเวลาโครงการตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนภายใต้โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง ร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรที่สนใจการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเครื่องจักรกลการเกษตรทั้งนี้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขต้องเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากเจตนารมย์ร่วมกันของ ธ.ก.ส. และสยามคูโบต้า ที่เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรได้ง่ายขึ้น ด้วยเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับรายได้ของเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองต่อยุคนวัตกรรมการเกษตรมากขึ้น ด้วยระบบนวัตกรรมอัจฉริยะ KUBOTA Intelligence System (KIS) ที่ช่วยให้บริหารจัดการเครื่องจักรกลได้ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงจัดตั้ง คูโบต้า ฟาร์ม เพื่อเป็นฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ของอาเซียน มุ่งหวังให้เกษตรกรได้เข้าถึงทุกนวัตกรรมเกษตรที่ใช้ได้จริง ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น
นายชินจิ สุเอนางะ ประธานบริหารบริษัท ยันม่าร์ เอส พี จำกัด กล่าวว่า ด้วยการสนับสนุนด้านสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ยันม่าร์เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยพี่น้องเกษตรกรได้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น และมั่นใจว่าการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ประกอบกับความล้ำสมัยด้านเทคโนโลยีของแทรกเตอร์ยันม่าร์ในปัจจุบันที่พัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบติดตามการทำงานผ่านดาวเทียมหรือ SA-R (Smart Assist) ที่จะช่วยจัดการ การทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยันม่าร์มีความยินดีที่และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านอื่น ๆ กับทาง ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อันเป็นวิสัยทัศน์ความมุ่งมั่นของยันม่าร์ทั่วโลกเช่นกัน