สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรชาวสวนเงาะให้หมั่นตรวจสอบสวนเงาะ เพื่อป้องกันการเกิด “เงาะนิโกร”
ด้วยในช่วงนี้เนื่องจากบางพื้นที่เงาะเริ่มออกดอกและมักจะเกิดโรคช่อดอกแห้ง และโรคราแป้ง โดยแนะนำว่า ระยะช่อดอกเริ่มขึ้นเป็นช่อสะเดา ในช่วงนี้เกษตรกรควรเร่งให้น้ำอย่างเต็มที่เพื่อให้ช่อดอกยืดและมีขนาดใหญ่หากน้ำน้อยเกินไปจะทำให้ช่อดอกสั้นเล็กและดอกบานเร็ว ควบคู่กับการระวังการเข้าทำลายของเชื้อราซึ่งจะทำให้เกิดโรคดังกล่าว
ทั้งนี้ นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ราแป้งในเงาะนั้นจะระบาดรุนแรงมากในช่วงก่อนดอกบานและติดผลอ่อน จะมีเชื้อราขาวจับคลุมดอก กลีบดอกและรังไข่ ทําให้ชะงักการเจริญเติบโต ดอกแห้งฝ่อ ผลอ่อนที่มีเชื้อราสีขาวเจริญปกคลมจะแห้งดํา เชื้อราแป้งอาจฟักตัวแสดงอาการระยะพัฒนาขนาดต่างๆ ของผลเงาะ ขนเงาะมีราขาวคลุมที่ขนอ่อน เพียงบางส่วนของผล หรือทั่วผล อาจทําให้ผลอ่อนแห้งดํา หลุดร่วงไป หรืออาจจะพักตัวหรือแสดงอาการตลอดระยะพัฒนาของผลได้ โดยขนเงาะที่มีราขาวปกคลุมจะแห้งดําและคอดขาดเหลือเฉพาะโคนขนสั้น ชาวสวนเรียกว่า “เงาะนิโกร”
“ถ้าเข้าทําลายในระยะผลโตจะเปลี่ยนสีช้าเมือสุก ผลเงาะที่เก็บเกี่ยวจะมีสีเหลือง ขนเกรียนสั้น หรืออาจจะทําให้สีซีดลงไม่เข้มเท่าผลปกติ ทําให้ราคาตก ตลาดไม่ต้องการ ในภาคใต้ยังพบเป็นกับใบอ่อนเงาะในพุ่ม หรือยอดที่เจริญบริเวณกิ่งล่างๆ ในทรงพุ่มของต้นพบใบอ่อนจะมีราขาวปกคลุมจึงควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม ป้องกันไว้ก่อนจะเป็นการดี”
ส่วนแมลงศัตรูพืชระยะนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ให้ข้อแนะนำว่า ควรเฝ้าสำรวจการทำลายของเพลี้ยไฟที่ทำให้ดอกแห้งและร่วงเช่นเดียวกัน ซึ่งเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยการใช้กระดาษสีขาวมารองที่ใต้ดอกแล้วเคาะดอกเพลี้ยไฟก็จะร่วงบนกระดาษเห็นได้ชัดขึ้นเพราะเพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น บางทีอาจใช้แว่นขยายช่วยส่องดู ถ้าพบเพลี้ยไฟต้องรีบกำจัด หากสวนมีขนาดเล็กมีต้นเงาะไม่มากสามารถใช้น้ำเปล่าผสมน้ำยาล้างจานตีพอให้มีฟองฉีดพ่นตอนเช้าๆ ให้ชุ่มเพื่อล้างเพลี้ยไฟได้ แต่ถ้าระบาดมากก็ต้องใช้สารเคมีเช่นอิมิดาโคลพริด หรือฟิโปรนิล
“เมื่อถึงระยะดอกช่อสะเดาควรฉีดพ่น แคลเซียม-โบรอน 1-2 ครั้งเพราะเป็นธาตุอาหารที่สำคัญต่อการงอกของละอองเกสร ที่สำคัญควรงดการใช้สารเคมีในระยะดอกบานเพื่ออนุรักษ์แมลงช่วยผสมเกสร และเมื่อดอกเริ่มบานอย่าลืม ทำดอก เปลี่ยนเพศดอกบางช่อให้เป็นดอกตัวผู้เป็นแหล่งผลิตละอองเกสรโดยใช้ NAA (ชื่อทางการค้า แพลนโนฟิกซ์,ออกซิน) ในอัตรา 1 ซีซี/น้ำ1ลิตร พ่นเป็นจุดๆ เน้นด้านเหนือลมและด้านบนทรงพุ่ม ตารางเมตรละ 1 จุดในช่วงเช้าหรือเย็นจะช่วยได้เป็นอย่างดี” นายดำรงฤทธิ์ กล่าวในที่สุด