“เฉลิมชัย” ผุดไอเดีย ยกระดับสู่ เกษตรดิจิทัล 1 กระทรวง 1 แอป เผยเกษตรกรปลื้มมากโอ่ สัปดาห์เดียวโหลดแล้วกว่า 3 หมื่นราย เล็งจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวตกรรม ทุกภูมิภาค สร้างเกษตรกรสตาร์อัพ ยกเครื่องครั้งใหญ่ปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯให้เร่งปฏิรูปภาคเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เข้าสู่เกษตรดิจิทัล ที่จะสร้างการรับรู้เป็นสะพานเชื่อมโยงไปถึงทุกคนพร้อมกับสร้างช่องทางการสื่อสารให้มากที่สุดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถให้เข้าถึงด้านเทคโนโลยี แข่งขันได้ ก้าวสู่อนาคตของคนไทย ไม่จมอยู่กับปัญหารายวัน เมื่อปฏิรูปภาคเกษตร ได้เข้มแข็ง จะแข่งขันได้ในวันข้างหน้า ภายใต้นโยบายเทคโนโลยีการเกษตร ของรมว.เกษตรฯ ที่ได้เริ่มให้บริการแล้วในเรื่อง แอปพลิเคชัน 1 กระทรวง 1 แอปพลิเคชัน บนมือถือของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯมี 22 แอปพลิเคชัน ได้นำมารวมไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน
“ขณะนี้มีความพึ่งพอใจมาก ที่เกษตรกรกว่า 3 หมื่นราย เข้ามาโหลดแอปของกระทรวงฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงถึงความก้าวหน้าการใช้เทคโนโลยีของเกษตรกร และกระจายไปในรูปแบบไวรัลไปเป็นวงกว้าง โดยแอป มีทั้งหมด 6 กลุ่ม อาทิ บริการด้านการเกษตร ความรู้ ข่าวสาร ราคาสินค้าเกษตร พร้อมกับได้ รวมแอปการเกษตร ของ 22 หน่วยงาน อยู่ในนี้หมด สามารถโหลด 1 แอป ได้ 22 หน่วยงานเข้าไปอยู่ในมือถือ นี่เป็นเฟส 1 ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว ซึ่งรมว.เกษตรฯให้นโยบายชัดเจน ให้แก้ปัญหาประชน ต้องรวดเร็ว ทุกหน่วยงานต้องทำอย่างเต็มความสามารถ”นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ บอกด้วยว่าจะจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวตกรรม(ศูนย์เอไอซี) เป็นศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีกับทุกภาคส่วน โดยจะเปิดตัววันที่ 24 ม.ค.นี้ ร่วมกับมหาวิทยาลัย ทุกภูมิภาค โดยจะตั้งศูนย์แรกที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น มีการอบรมเกษตรกร เข้าคอสออนไลน์คาสรูม เพื่อสร้างวิทยากรไปให้ความรู้เกษตรกรทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ลงไปสู่ทุกภูมิภาค ทุกพื้นที่ ในยุทธศาสตร์ เร่งทำงานในพื้นที่ เปลี่ยนบริบทการทำงานภาครัฐ ยุคใหม่ เป็นฝ่ายสนับสนุน และอำนวยความสะดวก
“ศูนย์เอโอซี” จะมีตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่เกษตรและสหกรณ์จังหวัด โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นประธานบอร์ดบริหาร ที่มีตัวแทนทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน สร้างการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรทุกจังหวัดให้เกิดขึ้นให้ได้ รวมทั้งจะมี ศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์วิจัยพัฒนา เช่น ตั้งสถาบันกุ้ง สถาบันทุเรียน สถาบันข้าว มาบูรณาการกันอย่างครบวงจร ในนโยบายตลาดนำการผลิต มาเปลี่ยนให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ ยกตัวอย่าง จ.ลำพูน จะเป็นเมืองหลวงลำไยโลก มีสถาบันลำไย เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการแปรรูป หาตลาด วิจัยการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีสตาร์อัพ ที่เข้าไปช่วยกันให้ยืนบนขาตัวเองได้ ทั้งการวิเคราะห์วิจัยตลาดโลก โดยปลายปีนี้เห็นผลชัดเจน แม้การชลประทาน จะต้องใช้ระบบใหม่ๆเข้ามาบริหารจัดการน้ำ เพราะการใช้น้ำสูงขึ้น แต่ปริมาณน้ำลดลงเรื่อยๆ นำวิธีการใหม่ ใช้ระบบการให้น้ำใต้ผิวดิน ลดการใช้น้ำ 80% ลดใช้ปุ๋ย ยา ปราบวัชพืช 90% และอ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆล้วนสร้างมา 40 กว่าปี ถ้าไปดูดตะกอนออกบ้างอาจเก็บน้ำได้มากขึ้นโดยไม่ต้องสร้างอ่างใหม่ ขณะนี้ยังไม่รู้จุน้ำได้เท่าไหร่ เป็นเรื่องเปลี่ยนวิธีคิด บริหาร จะเกิดผลรูปธรรม อีกทั้งการเร่งเดินหน้าทำศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ บิ๊กดาต้าเอ็กเชนจ์ จะสามารถตอบโจทย์ทุกมิติได้ชัดเจน ทุกอย่างวัดได้แบบเรียลไทม์ เพราะทุกข้อมูลถูกฟีดเข้ามาวิเคราะห์ จากทุกหน่วยงาน และในพื้นที่ ทั้งการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การวิเคราะห์ทุกอย่างภาคเกษตรได้แม่นยำยิ่งขึ้น”ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯกล่าว