ดร.ชฎามาศ จิตต์เลขา และทีมผู้วิจัย ดร.ธำรงศิลป์ โพธิสูง อาจารย์สดใส ช่างสลัก ดร.สุปราณี งามประสิทธ์ อาจารย์พิทยาภรณ์ สุภรพัฒน์ จากศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) คณะเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ข้าวโพดข้าวเหนียว ที่เพาะปลูกเพื่อเป็นการค้าภายในประเทศส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวพันธุ์ลูกผสม อาจจะมีพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกในบางฤดูกาลบ้างเล็กน้อย ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมที่ให้ผลผลิตและคุณภาพดี ยังมีความจำกัดในด้านเมล็ดพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์ราคาค่อนข้างสูง รวมทั้งสายพันธุ์พ่อแม่ที่ใช้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมยังมีจำกัด

ดร.ชฎามาศ จิตต์เลขา กับผลงานแห่งความภูมิใจ
ดร.ชฎามาศ จิตต์เลขา กับผลงานแห่งความภูมิใจ

ดังนั้น ในการที่จะส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวเป็นการค้า จำเป็นต้องมีการพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพันธุ์ลูกผสมจากการที่โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเทียนและข้าวโพดข้าวเหนียว ของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการปรับปรุงประชากรข้าวโพดข้าวเหนียว สร้างพันธุ์ผสมเปิดที่มีฐานพันธุกรรมกว้าง แล้วสกัดสายพันธุ์อินเบรด (inbred line) สำหรับผลิตข้าวโพดข้าวเหนียวให้มีความหลากหลายนั้น สามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวที่มีคุณภาพการรับประทานดี มีสารต้านอนุมูลอิสระแอนโธไซยานินและโปรวิตามินเอ ซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งชนิดเนื้องอก ช่วยเสริมให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรคและสมานแผล เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้น คือ ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมเดี่ยว พันธุ์ Kwsx5901 ซึ่งได้มาจากการผสมการผสมระหว่างข้าวโพดข้าวเหนียวสายพันธุ์ 4014 และ 709 โดยใช้เวลาออกดอก 49 วัน เก็บเกี่ยว 67 วัน ผลผลิตฝักสด 1,600 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนฝัก 7,754 ฝัก/ไร่ ต้านทานโรคทางใบ รสชาติ เหนียว นุ่ม มีสารต้านอนุมูลอิสระแอนโธไซยานิน และวิตามินเอ

หน้าตาข้าวโพดพันธุ์ใหม่
หน้าตาข้าวโพดพันธุ์ใหม่

นอกจาก ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมเดี่ยว พันธุ์ Kwsx5901 ยังมีพันธุ์ใหม่อีกที่จะออกมาคู่กันอีกหนึ่งพันธุ์คือ ข้าวโพดหวานสีม่วงลูกผสมเดี่ยว เคยู คอร์นเบอรี่ พันธุ์ Kspsx 5903 ซึ่งได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานให้มีสีม่วงที่มีสารแอนโธไซยานิน และมีปริมาณโปรตีน (ทริปโตแฟน) ในเมล็ด เพื่อเป็นข้าวโพดหวานที่มีประโยชน์ด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภค ซึ่งทานได้ทั้งฝักสดและแปรรูปได้หลายเมนู

สำหรับ การปลูกข้าวโพดหวานสีม่วงลูกผสมเดี่ยว Kspsx 5903 จะให้ผลผลิตฝักสด 2,140 กก./ไร่ อายุวันเก็บเกี่ยว 64 วัน อายุวันออกดอก 50% 46 วัน ความสูงต้น 172 ซม. ตำแหน่งฝัก 95 ซม.นักวิจัย มก. พัฒนาผสมพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวและข้าวโพดหวานสีม่วง

ผู้สนใจข้าวโพดพันธุ์ใหม่ ทั้ง 2 พันธุ์ จะมีการนำมาโชว์ ในงานเกษตรแฟร์ 63 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตัวครั้งแรก ไม่เคยมีการกระจายพันธุ์มาก่อน (เป็นพันธุ์ก่อนการค้า) โดยจะมีการโชว์ต้นพันธุ์ของจริงที่ปลูก พร้อมแจกเมล็ดพันธุ์ และให้ชิมฝักสดอีกด้วย (จุดแสดงโชว์จะอยู่ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ) ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปทดลองปลูก โดยการกระจายพันธุ์เพื่อการค้านั้น จะดำเนินการได้ ภายในปี 2564

ข้อมูล : นางจุไร เกิดควร ประชาสัมพันธ์ มก. และเอกสารข่าวงานเกษตรแฟร์ 63

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated