เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
“ก่อนมาเป็นเกษตรกร เป็นดีเจสายสแครชครับ รายได้วันหนึ่งประมาณ 6,000 บาท”
น็อต-ธงฉาน ศรีจันทร์ หนุ่มวัย 42 ปี เกษตรกรแห่งอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีพื้นที่ทำเกษตรเพียง 1 งานในการทำกิจกรรมเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงไส้เดือน ปูนา และหอยขม บอกถึงการเริ่มต้น
กว่า 20 ปี กับอาชีพ Disc Jokey เปิดแผ่น หรือที่รู้จักกันว่า DJ โดยอยู่ในสายที่เรียกว่า สแครช (Scratching) ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงด้านเสียงเพลงจากการเปิดแผ่นในแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ โดยเฉพาะที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร เขาได้สร้างสมประสบการณ์อย่างมากมายกับอาชีพดังกล่าว แต่วันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อผู้จัดการส่วนตัวได้เสียชีวิตลง การประสานเพื่อติดต่องานขาดช่วง สิ่งที่ตามมาคือ คำว่า ตกงาน
“ตอนนั้นคิดหนักเลยครับว่าจะทำอะไรดี ที่จะทำให้ผมมีอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งพ่อผมได้ให้คำแนะนำว่า ลองมาเลี้ยงไส้เดือนไหม เพราะช่วงนั้นกำลังบูมมาก”
ภาพเมื่อปี 2555 ที่เริ่มต้นยังเป็นภาพที่เขาจำติดตา โรงรถภายในบ้าน คือ สถานที่เลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์อัฟริกันไนต์ครอเลอร์ เพื่อจำหน่ายมูลเป็นครั้งแรก 2 ปีกับการใช้พื้นที่ดังกล่าว เขาศึกษาเรียนรู้ และสร้างรายได้
“วันหนึ่งมีลูกค้ามาสั่งให้ผมผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน 500 กิโลกรัมงานใหญ่เลย”
“ผมมองว่า พื้นที่โรงรถผมเล็กไป ต้องขยับขยาย และพอดีว่า มีคนทางนครสวรรค์จะขายพื้นที่ผืนนี้ ผมเลยตัดสินใจซื้อและย้ายมาอยู่พร้อมกับความฝันในการผลิตมูลไส้เดือนขายอย่างเต็มที่”
ปี 2558 เป็นปีแรกที่เขาย้ายมาอยู่นครสวรรค์ พร้อมกับการลงทุนเลี้ยงไส้เดือนเพื่อให้ได้ผลผลิตตามออร์เดอร์
“ผลหรือครับ เจ๊ง ผมนอนร้องไห้อย่างเดียวไปเลยเดือนหนึ่ง” น็อต กล่าว
ทำไมถึงเจ๊ง คำอธิบายของผู้ชายคนนี้คือ ในปีนั้นสภาพอากาศของจังหวัดนครสวรรค์เปลี่ยนแปลง เป็นปีที่อากาศร้อนจัดมากถึง 45 องศา ผลกระทบที่ตามมาคือ ไส้เดือนที่เลี้ยงทั้งหมดตาย
เริ่มชีวิตใหม่กับโครงการทายาทเกษตรกรของธ.ก.ส.
ช่วงที่น็อตซุกตัวอยู่ในห้องนอนพร้อมกับน้ำตา เพื่อนสาวคนสนิทได้ไปอ่านเจอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยผู้ที่เข้าโครงการฯจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้จริงจากกระบวนการพัฒนาความรู้อย่างครบถ้วน ร่วมลงมือปฏิบัติจริงกับผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จ เรียนรู้การคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง การทำแผนธุรกิจเพื่อต่อยอดการผลิตสินค้าเกษตร เรียนรู้แผนการผลิต การแปรรูป การตลาด การเงินการลงทุน การบริหารจัดการ การสร้างเครือข่ายอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์เกษตร
โครงการดีๆแบบนี้ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการในมาตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบันโดย ทำให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก
“พอทราบเรื่องนี้ผมเลยตัดสินใจสู้อีกครั้ง ไปสมัครเข้าร่วมที่ ธ.ก.ส.สำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ และได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ รุ่นที่ 3”
โครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพของธ.ก.ส. ได้ชุบชีวิตใหม่ให้กับชายหนุ่มผู้นี้ นอกจากความรู้ในสาขาต่างๆที่จำเป็นต้องใช้กับการประกอบอาชีพการเกษตรแล้ว เขายังได้เครือข่ายเพื่อนๆเกษตรกรที่หนาแน่นและช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกันมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ไฟแห่งการต่อสู้ที่เคยเกือบมอดดับได้กลับลุกโชนขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับการก้าวเดินในอาชีพ ภายใต้กิจกรรมการเลี้ยงไส้เดือน ปูนา และหอยขม
ทำไมต้องเป็นไส้เดือน ปูนา และหอยขม
ในวันนี้พื้นที่เพียง 1 งาน ได้กำเนิด บ้านไส้เดือน ปูนาและหอยขม ตั้งอยู่เลขที่ 150 ม.2 ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000 คือแหล่งผลิตทั้งมูลไส้เดือน ปูนา และหอยขม จำหน่ายให้กับลูกค้า
“ด้วยพื้นที่ที่ผมมีอยู่ในจำนวนจำกัดเพียง 1 งานนี้ จึงทำให้ผมต้องมุ่งเน้นในเรื่องการของการเลี้ยงแบบพัฒนาและให้มีคุณภาพสูงสุด ซึ่งทุกวันนี้สามารถทำให้ผมอยู่ได้ครับ แม้จะมีพื้นที่เพียงแค่นี้ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้นผมต้องเจ็บตัวมาเยอะ เจอปัญหามากมายให้แก้ไข ดังนั้นกว่าที่จะสำเร็จได้นั้นต้องมีประสบการณ์มีความล้มเหลว ต้องเจ็บตัวก่อน และต้องสู้ต้องปรับปรุงแก้ไขจึงจะทำให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จ”
“ทำไมผมถึงเลือกเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตมูลจำหน่าย เพราะผมศึกษาแล้วพบว่า ไส้เดือนนั้นถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อทุกวงการ เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพมาก ใส่ต้นไม้ก็เจริญเติบโตดี อีกทั้งยังสามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญปุ๋ยมูลไส้เดือนมีคุณสมบัติที่ดีกว่าปุ๋ยจากมูลสัตว์อื่น เพราะในลำไส้ของไส้เดือนจะมีจุลินทรีย์มากกว่า 300 ชนิด ซึ่งปุ๋ยจากมูลสัตว์อื่นไม่มี และเป็นประโยชน์ต่อพืชและดิน ถ้านำไปใช้กับพืช จะทำให้ดินไม่แน่น อากาศผ่านได้ดี และจุลินทรีย์มีมาก”
วันนี้น็อตยังมุ่งเน้นการผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือนสายพันธุ์อัฟริกันไนต์ครอเลอร์จำหน่าย โดยพื้นที่การเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 50 ตารางเมตร ซึ่งจะเน้นให้ความสำคัญกับคำว่าคุณภาพเป็นหลัก จึงทำให้มีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งกิจกรรมบนเส้นทางอาชีพของเกษตรกรคนนี้ คือ การเลี้ยงปูนา
“ปูนา เป็นการต่อยอดมาจากการเลี้ยงไส้เดือน โดยนำวงบ่อท่อที่เคยใช้ไส้เดือนมาเลี้ยงปูนา และปูนานี้สามารถเชื่อมโยงกับการเลี้ยงไส้เดือนได้ โดยไส้เดือนที่เลี้ยงสามารถนำมาทำเป็นอาหารให้ปูนาได้ และปูนาก็ชอบมาก เพราะเป็นอาหารสด อีกอย่างที่ผมทำคือ การนำน้ำหมักจุลินทรีย์มูลไส้เดือนหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Worm tea มาใช้กับการเลี้ยงปูนา โดยนำน้ำหมักดังกล่าวมาใส่ในบ่อเลี้ยงปูนา ซึ่งจะช่วยบำบัดน้ำให้มีสภาพเป็นกลางได้ ทำให้น้ำใสมากขึ้น”
“ทั้งนี้เพราะปูนั้นเวลากินอาหารจะกินไม่หมด ดังนั้นจึงจะมีเศษอาหารตกหลงเหลืออยู่ ถ้าไม่มีการเอาออกจำส่งผลให้เกิดน้ำเน่า เพราะการเลี้ยงปูนานั้นจะสำคัญมาก ถ้าน้ำมีกลิ่นหรือน้ำเน่าปูนาจะตายทันที แต่น้ำหมักจุลินทรีย์ช่วยได้ เพราะมีจุลินทรีย์มากกว่า 300 ชนิดช่วยกำจัดของเสียต่างๆที่อยู่ก้นบ่อเลี้ยงปูนาให้หมดไป และทำให้น้ำเสียช้าลง”
โดยหลังจากศึกษาอยู่ 2 ปี รุ่นแรกที่นำเข้ามาเลี้ยงปรากฏว่า ตายหมดเกลี้ยงเช่นกัน แต่ผมเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ เพราะมีความเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่จะเกินความสามารถมนุษย์ ถ้าตั้งใจทำและลงมือจริงๆ จนวันนี้ผมสามารถเลี้ยงปูได้ตายน้อยลง จนถึงแทบไม่มีตาย
ในวันนี้สำหรับสายพันธุ์ปูนาที่เลี้ยงเป็นสายพันธุ์ที่เรียกว่า พันธุ์กำแพง หรือ พันธุ์พระเทพฯ
“การเลี้ยงให้ปูนามีเนื้อที่ฟู และมีมันปูเยอะนั้น จะต้องมีการให้อาหารที่สลับกันระหว่าง อาหารเม็ดสำเร็จรูป และอาหารสด รวมถึงการให้ผลไม้รสหวาน อย่างกล้วย มะละกอ นอกจากนี้จะมีการให้ข้าวสวยผสมเกลือ เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในเรื่องการลอกคราบ และทำให้ปูนาไม่ตายระหว่างการลอกคราบได้ดี เพราะในเกลือกับข้าวสวยมีแคลเซียม ทำให้ปูนาสามารถลอกคราบได้อย่างสมบูรณ์”
“สำหรับคราบปูนาที่ได้ จะมีสารสำคัญ คือไคโตซาน ซึ่งหากนำไปบดแล้วนำไปใส่ให้กับต้นไม้จะทำให้งามมากๆ” น็อตกล่าว
การเลี้ยงหอยขม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น็อตบอกว่า เขาให้ความสนใจ และลงมือเลี้ยง
“ตอนแรกที่ผมเลี้ยงหอยขม เข้าใจว่าภายในรองบ่อต้องมีการใส่ดิน ปรากฎว่าเหมือนเดิมครับ หอยขมตายหมดบ่อ ทั้งที่ทำทุกอย่างตามคำแนะนำของผู้เลี้ยงที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงมานั่งวิเคราะห์ทำให้เข้าใจว่า เศษอาหารต่างๆที่ให้หอยชมกินนั้นจะไปหมักหมนอยู่ในดิน ย่อยสลายไม่ทัน ทำให้น้ำเสีย หอยตายหมด”
“ผมเลยเอาใหม่ คราวนี้เอาดินออกให้หมด ใส่หอยลงเลี้ยงปรากฏว่า รอดครับ หอยมีการเจริญเติบโตที่ดีด้วย
“การเลี้ยงหอยขมของผม ถ้ามาดูแล้วอาจสงสัยว่าทำไมต้องมีการวางท่อให้ออกซิเจน อันนี้เป็นเพราะผมมีของเหลือจากการเลี้ยงปูนา เลยเอามาใช้ประโยชน์ไม่อยากทิ้งไปเฉยๆ แต่การที่เราให้ออกซิเจนในน้ำกับสัตว์น้ำนั้นจะช่วยเรื่องการทำให้น้ำไม่เสีย ซึ่งจริงๆการเลี้ยงหอยขมไม่ต้องใส่ออกซิเจนก็ได้ อีกประการที่ทำคือ การเลี้ยงปลาหางนกยูงในบ่อหอยขม อันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ช่วยกำจัดลูกน้ำของยุง ซึ่งชอบมาวางไข่ในบ่อเลี้ยงเลยใช้ปลาหางนกยูงมาช่วยกำจัด”
น็อตบอกว่าการเลี้ยงหอยขม ตอนนี้เน้นเป็นการเลี้ยงเพื่อศึกษาทั้งของตัวเองและผู้สนใจ เรียกว่าใครอยากดูว่าจะเลี้ยงหอยขมอย่างไร ให้มาดูเลยมีต้นแบบให้เห็น แต่หากต้องการสายพันธุ์หรือหอยขมเพื่อไปบริโภคไปจำหน่าย ที่นี่ก็มีพร้อมให้บริการเช่นกัน
“ตอนนี้ผมกับเพื่อนที่เป็นทายาทเกษตรกรเครือข่ายรุ่นเดียวกันได้ทำเป็นเครือข่ายเกี่ยวกับการเลี้ยงหอยขม ทำให้มีปริมาณหอยขมมากกับความต้องการของผู้สนใจ รวมถึงปูนาด้วย ดังนั้นอยากได้ ติดต่อมาเลยครับเราพร้อมจำหน่ายและให้ข้อมูลนำเทคนิคการเลี้ยง” น็อต กล่าว
ในวันนี้นอกจากจะจับหอยขมขายได้แล้ว น็อตยังจับปลาหางนกยูงที่เลี้ยงไปขายเป็นอีกหนึ่งรายได้เสริม
“ปลาหางนกยูงแพร่พันธุ์เร็วมาก ผมเลยตักใส่ถุงๆละ 10 ตัว ไปวางขายถุงละ 10 บาท ที่ตลาดนัดค่ายจิรประวัติที่ตัวเมืองนครสวรรค์ ซึ่งขายดีพอสมควร”
วันนี้การพัฒนาในอาชีพของน็อตไม่ได้เดินด้วยเพียงตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีการสานความร่วมมือกับเพื่อนๆในโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ ผลิตและจำหน่าย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและทำให้สามารถก้าวเดินสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ดังนั้นหากสนใจ ติดต่อได้เลย น็อต ธงฉาน พร้อมจัดให้เต็มที่…