เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
“ต้องขอเรียนว่า ที่อำเภอพบพระนั้นมีสิ่งที่ดีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำดี ดินดี อากาศดีแล้ว ที่โชคดีอีกอย่างคือ ในอำเภอพบพระเกษตรกรมีความตั้งใจที่จะผลิตสินค้าเกษตรดีๆออกมา อย่างที่ไร่ชัยณรงค์ศึกแห่งนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการผลิตผลผลิตดีๆออกมา โดยจุดเด่นที่นี่คือ การปลูกแบบผสมผสานด้วยพืชหลากชนิดในพื้นที่ของตนเอง ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของราคาและตลาดถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบความสำเร็จ”
ผู้การอ้วน “ศิลปชัย ธัญการกรกุล” ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาพบพระ จังหวัดตาก บอกกล่าวในขณะนำเข้าเยี่ยมชมไร่ชัยณรงค์ศึก ของสองมีภรรยา เฮียหมู-ชัยณรงค์ศึก และ เจ๊หล้า-นุธิตรา สอนศรี ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 187 หมู่ที่ 8 ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก โทร.09-2418-1444
“แต่ก่อนนี้เราก็เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ตอนนี้ไม่ทำอย่างนั้นปรับใหม่ ทำเป็นเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลาย” เจ๊หล้า บอกกล่าวถึงภาพในอดีต
ตรงจุดนี้ ผู้การอ้วน ศิลปชัย ได้มีข้อคิดฝากถึงเกษตรกรรายอื่นๆถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวมาสู่รูปแบบการปลูกผสมผสานที่หลากหลายว่า ตามแนวคิดของตนเองนั้นอยากให้เกษตรกรควรพิจารณาว่าจะปรับรูปแบบการผลิตของตนเองอย่างไรดี เพราะในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่จะเน้นการปลูกในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยว ถึงแม้ว่าจะดีในเชิงเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นไปได้ ถ้าแบ่งพื้นที่บ้างส่วนเอามาทดลองทำเกษตรผสมผสานบ้างจะเป็นการดี
“ขั้นต้นนั้น อาจเริ่มการปลูกเพื่อไว้ใช้บริโภคในครัวเรือนของตนเองก่อน เหลือก็นำมาจำหน่ายแบ่งปันสิ่งดีๆให้กับคนในชุมชน”
ใช้หลักตลาดนำการผลิต
แต่ในวันนี้บนพื้นที่ 17 ไร่ของสวนแห่งนี้นี้ มีรูปแบบการเกษตรที่เน้นความหลากหลาย ด้วยพืชหลายชนิดซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด หรือที่เรียกว่า ตลาดนำการผลิต
“สิ่งหนึ่งที่เราเน้นคือ ต้องมองก่อนว่าตลาดต้องการอะไร จึงปลูก อย่างกล้วยหอมทอง ตอนนี้เราสามารถประสานหาตลาดรองรับที่แน่นอนได้แล้ว จึงปลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นพืชหลัก ในขณะเดียวกันก็จะมีพืชเสริมรายได้ที่ให้ผลผลิตเร็ว ตลาดต้องการ ปลูกเสริม อาทิ ผักปลั่งญี่ปุ่น ตำลึง ตะไคร้ ขมิ้นชัน มะเขือเปราะคะน้า พริก มะเขือกระเจี๊ยบเขียว ผักกวางตุ้ง มันต่อเผือก เป็นต้น สับเปลี่ยนหมุนเวียนอีกมากมาย”
ไร่ชัยณรงค์ศึกในวันนี้ จึงเป็นแปลงเกษตรที่มีการปลูกกล้วยหอมทองเป็นพืชหลัก และในร่องระหว่างแถวต้นกล้วยหอมจะลงพืชเสริมดั่งที่กล่าวข้างต้น
“มีตลาดแล้วก็ต้องมาวางแผนเกี่ยวกับการบริหารจัดการอีกว่า ทำอย่างไรให้ผลผลิตออกมาสอดคล้องกับความต้องการของตลาด อย่างกล้วยหอมทอง ตลาดของเรานั้นไม่ได้ต้องการแบบตัดทีเดียวขายพร้อมกันหมดทั้งแปลง แต่เป็นการค่อยๆทะยอยส่ง ดังนั้นก็ต้องวางแผนการปลูกว่า ต้องปลูกที่ละกี่ไร่ กี่ต้น พืชผักที่ปลูกเสริมก็เช่นกัน ต้องมาดูว่าตลาดรองรับได้เท่านี้ จะต้องปลูกผักปลังกี่แถว ตำลึงกี่แถว” เจ๊หล้า กล่าว
ส่วนตลาดรองรับพืชผักอื่นๆนั้น ส่วนใหญ่จะนำไปจำหน่ายที่ตลาดประชารัฐ ของดีวิถีชุมชนคนพบพระ ซึ่งทางธ.กส.ได้สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นบริเวณ กม. 8 บนเส้นทางไปอำเภอพบพระ ซึ่งจะเปิดจำหน่ายทุกวันศุกร์
สำหรับในส่วนของไม้ผลอื่นๆ ไร่ชัยณรงค์ศึก เพิ่งจะเริ่มมีการทดลองปลูก เช่น อะโวกาโด ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น
สำหรับพืชผลทั้งหมดในไร่ชัยณรงค์ศึก เจ๊หล้าบอกว่า จะเน้นการปลูกแบบเกษตรปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
“ไร่ชัยณรงค์ศึกของเราเปิดกว้างอย่างมากในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดภัยเข้ามาใช้จากทุกหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริม เพราะเราต้องการที่จะสร้างสินค้าดีๆ ปลอดภัยดีต่อสุขภาพให้กับทุกคนได้รับประทาน ไร่ชัยณรงค์ศึกของเรา จึงเน้นเรื่องเกษตรปลอดภัยเป็นหลัก”
ตั้งกลุ่มผลิตกล้วยหอม คุณภาพ GAP
เฮียหมู บอกว่า กล้วยหอมทองนั้นได้เริ่มตัดสินใจปลูกครั้งแรกเมื่อปี 2561 สาเหตุที่มาเลือกปลูกกล้วยหอมทองนั้น เพราะได้รู้จักกับทางไร่ภักดี ซึ่งผู้ที่รวบรวมผลผลิตส่งให้กับทางเซเว่นฯในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และมีความต้องการกล้วยหอมทองที่ปลูกแบบเกษตรปลอดภัยของอำเภอพบพระเป็นจำนวนมาก เพราะต้องส่งให้กับทางเซเว่นฯไม่ต่ำกว่า 15,000 ลูกต่อวัน
“ด้วยกล้วยหอมทองที่ปลูกในเขตอำเภอพบพระนั้นมีรสชาติดี เนื้อจะเหนียวนุ่มฟู มีความหวาน และหอม ด้วยสภาพพื้นที่เหมาะสมเพราะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400 – 700 เมตร และมีแหล่งน้ำที่ดี อากาศดี หากได้ลองกินแล้วจะติดใจ ซึ่งหากจะส่งให้กับทางผู้รวบรวมเราก็จะต้องมีปริมาณกล้วยหอมที่เพียงพอ จึงได้นำแนวคิดมาปรึกษากับเพื่อนๆเกษตรกร ซึ่งตอนนี้มีผู้สนใจที่จะเข้าร่วมปลูกกล้วยหอมประมาณ 10 ราย พื้นที่ 150 ไร่ จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรปลอดภัยกล้วยหอมทองอำเภอพบพระขึ้น”
จากข้อมูลของเฮียหมูชี้ว่า ในรอบแรกของการเริ่มต้นนี้ ทางสมาชิกในกลุ่มต้องใช้หน่อปลูกกล้วยหอมทองทั้งหมด 8,000 หน่อ
โดยในแปลงปลูกกล้วยหอมทองนั้น ทางเกษตรกรเจ้าของสวนบอกว่าจะต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในช่วงที่กล้วยหอมทองเพิ่งเริ่มโตนั้นจะใช้พื้นที่ว่างรอบๆลงพืชผักเสริม
“อย่างแปลงนี้ มีพืช 3 ชนิด คือ มีกล้วยหอมทอง ผักกว้างตุ้ง และกระเจี๊ยบเขียว โดยผมลงผักกวางตุ้งไว้แล้วเสริมด้วยกระเจี๊ยบเขียว เมื่อผักกวางตุ้งได้อายุก็จะตัดขาย หลังตัดกวางตุ้งต้นกระเจี๊ยบเขียวก็จะโตให้ตัดผักขายได้ เกิดเป็นรายได้หมุนเวียน 3 อย่าง จากแปลงเดียว ตามหลักการที่ว่า ต้องมีรายได้เป็นรายวัน รายเดือนและรายปี” เฮียหมูกล่าว และว่า
“สิ่งสำคัญจากประสบการณ์คือ กล้วยหอมทองนั้นเป็นพืชที่ต้องมีการจัดการดูแลเป็นอย่างดี เช่น ทุก 7 วัน 10 วัน ต้องมีการตัดแต่งใบ การจัดการเรื่องหน่อ ไม่ใช้ปลูกเป็นกอแล้วปล่อยทิ้งไป จะต้องหมั่นดูแลตลอด”
ทั้งนี้ สำหรับกล้วยหอมทองนั้นตั้งแต่เริ่มลงหน่อปลูก จนถึงตัดเครือจำหน่ายได้นั้นจะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน
“การปลูกกล้วยหอมทองนั้น สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากการทำให้ปลอดสารพิษแล้ว ต้องใส่ใจดูแลในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ผลผลิตของกล้วยหอมทองที่ปลูกกำลังได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP แล้ว และกำลังจะได้เครื่องหมายตากการันตีของทางจังหวัดตากอีกด้วย” เจ้หล้า กล่าวในที่สุด
ปลูกขมิ้นส่งองค์การเภสัชฯ
ขมิ้น เป็นอีกหนึ่งพืชที่ปลูกในพื้นที่ของไร่ชัยณรงค์ศึกโดยเป็นการปลูกภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกและจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อผลิตสารสกัดขมิ้นชัน(ต่อเนื่อง) ที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยจังหวัดตากเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริม โดย นายประสิทธิ์ โสภา กรรมการกลุ่มเกษตรปลอดภัยกล้วยหอมทองอำเภอพบพระ และเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมการปลูกขมิ้นบอกว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อำเภอพบพระให้ปลูกขมิ้นไปแล้วประมาณ 350 ไร่
ด้วยองค์การเภสัชกรรม ได้มีการวิจัย พัฒนาและศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน โดยใช้บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม และยังทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ ความฝืดข้อ เพิ่มความสามารถในการใช้งานข้อได้ไม่ต่างจากการใช้ยาต้านการอักเสบไอบูโปรเฟน โดยไม่มีผลข้างเคียงกับระบบทางเดินอาหาร และผลิตภัณฑ์สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล ขององค์การเภสัชกรรมยังได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายการแรกของประเทศไทย และได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ (Prime Minister Herbal Awards PMHA) ประจำปี 2561
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์สารสกัดขมิ้นชันแคปซูลที่มีแนวโน้มมากขึ้น และเตรียมการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ องค์การฯ จึงได้มีการลงนามสัญญาจะซื้อจะขายขมิ้นชันคุณภาพที่มีสารสำคัญสารเคอร์คูมินอยด์สูงกว่าร้อยละ 9 สำหรับนำไปผลิตเป็นสารสกัดขมิ้นชันและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับกลุ่มเกษตรกร จังหวัดลพบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดยะลา โดยองค์การเภสัชกรรม ได้ส่งมอบเหง้าพันธุ์ขมิ้นชันคุณภาพ ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการปลูกตามมาตรฐาน Organic farming หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้วัตถุดิบขมิ้นชันที่มีปริมาณสารสำคัญเคอร์คูมินอยด์ ไม่น้อยกว่า 9% ตามข้อกำหนด
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การปลูกขมิ้นเกษตรกรต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขขององค์การเภสัชกรรม อย่างเคร่งครัดห้ามมีการใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น ปลูกแบบธรรมชาติ โดยรูปแบบของการส่งผลผลิต จะต้องทำขมิ้นชันแห้ง ซึ่งจะใช้ขมิ้นชันสดมาตากให้แห้งประมาณ 6 – 8 กิโลกรัม จึงจะได้ขมิ้นชันแห้ง 1 กิโลกรัม
“ปลูกประมาณ 12 เดือนจะเก็บเกี่ยวและนำมาตากแห้งได้ โดยมีราคาประกันที่ 120 บาทต่อกิโลกรัมแห้ง” นายประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งต้นแบบเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาชีพของตนเอง เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จตามที่หวังภายใต้แนวทางการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งในวันนี้ไร่ชัยณรงค์ศึกเปิดกว้างให้ผู้สนใจได้ไปเยี่ยมเยือนและแลกเปลี่ยนความรู้ได้ตลอดเวลา เมื่อเดินทางมายังอำเภอพบพระ จังหวัดตาก แห่งนี้….