เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
ด้วยจุดประสงค์สำคัญของกรมปศุสัตว์ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพดีที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับโคเนื้อจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมานั้นประเทศไทยได้มีการนำเข้าโคเนื้อคุณภาพจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ไทยต้องเสียดุลการค้าระหว่างประเทศปีละหลายล้านบาท
ในปี 2529 กรมปศุสัตว์ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์ตาก ขณะนั้นมี นายยอดชาย ทองไทยนันท์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์ตาก เป็นหัวเรือใหญ่ดำเนินการโครงการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อทดแทนการนำเข้าโคเนื้อและเนื้อโคคุณภาพดีจากต่างประเทศรวมทั้งเพื่อผลิตโคพ่อพันธุ์และน้ำเชื้อแข็งกระจายพันธุกรรมให้กับเกษตรกรเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีและผู้สนใจทั่วไป
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว จึงทำให้ประเทศไทยมีสายพันธุ์โคเนื้อที่เรียกว่า “โคพันธุ์ตาก” มาจนถึงทุกวันนี้
มารู้จักศูนย์ฯ ตาก…
นายประสิทธิ์ ยิ้มเกตุ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์ตาก กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาค อยู่ภายใต้สังกัด สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่สำคัญ คือ
หนึ่ง วิจัย สร้างพันธุ์สัตว์ที่เป็นพันธุ์คัดที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ให้สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์และเอกชนรับไปทดสอบและกระจายพันธุ์สู่เกษตรกร
สอง ศึกษา วิจัย เพื่อแก้ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ในภูมิภาค เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และสภาพสังคม เศรษฐกิจของเกษตรกร
สาม กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์
สี่ กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาของศูนย์บำรุงพันธุ์สัตว์ในอุปการะของกรมปศุสัตว์
และ ห้า ดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล เพื่อการรับรองพันธุ์และจดทะเบียนสัตว์ของเกษตรกร ตามกฎหมายว่าด้วยการบำรุงพันธุ์สัตว์
ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 79 หมู่ที่ 7 ตำบลไม้งาม อำเภอเมือง จังหวัดตาก โทร. 0-5589-0712 อยู่ห่างจากตัวจังหวัดตากไปทางทิศเหนือบนถนนพหลโยธิน ช่วง ตาก – ลำปาง ประมาณ 5 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่
จากความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์โคพันธุ์ตาก มาถึงปัจจุบันประเทศไทยมีแม่โคพันธุ์ตากแล้ว ประมาณ 500 ตัว โดยกระจายการเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก จำนวน 200 ตัว ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์ จำนวน 200 ตัว และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พิษณุโลก จำนวน 100 ตัว
ผอ.ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก จึงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตลูกโคพันธุ์ตากที่สำคัญ และจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สั่งจองล่วงหน้าในราคาถูก นำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
ที่น่าสนใจอีกประการ และอยู่ระหว่างการดำเนินการ นั่นคือ การพัฒนาพื้นที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก ให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านปศุสัตว์” ตามนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน ที่มีเป้าหมายนำร่องพัฒนา 4 แห่งทั่วประเทศ
โคพันธุ์ตากดีอย่างไร ?
ผอ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโคพันธุ์ตาก เป็นโคที่ให้เนื้อคุณภาพสูง มีการเจริญเติบโตดี โดยการนำเอาข้อดีของโคทั้ง 2 พันธุ์เข้ามารวมไว้ในพันธุ์เดียวกัน พันธุ์แรกที่ใช้คือ “โคพันธุ์ชาร์โรเลส์ (Charolais)” ซึ่งเป็นโคยุโรปที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ให้เนื้อคุณภาพดี เปอร์เซ็นต์ซากสูง พันธุ์ที่ 2 คือ “โคพันธุ์ไทยบราห์มัน (Thai Brahman)” ซึ่งเป็นโคเลือดอินเดียที่มีความดีเด่นเรื่องการทนร้อน ทนโรค และแมลงได้ดี
โดยขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์นั้น เริ่มจากการนำน้ำเชื้อโคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์คุณภาพสูงจากประเทศฝรั่งเศส ผสมกับแม่โคบราห์มันพันธุ์แท้ ได้โคลูกผสมชั่วที่ 1 หรือที่เรียกว่าโคพันธุ์ตาก 1 ซึ่งมีเลือด 50% ชาร์โรเล่ส์ และ 50% บราห์มัน
ขั้นตอนต่อมาคือ การผสมแม่โคเพศเมียชั่วที่ 1 ดังกล่าวด้วยน้ำเชื้อหรือพ่อบราห์มันพันธุ์แท้ได้ลูกโคชั่วที่ 2 หรือเรียกโคพันธุ์ตาก 2 ซึ่งมีเลือด 25% ชาร์โรเล่ส์ และ 75% บราห์มัน จากนั้นผสมแม่โคเพศเมียชั่วที่ 2 ด้วยน้ำเชื้อโคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์คุณภาพสูง ได้ลูกโคชั่วที่ 3 หรือเรียกว่าโคพันธุ์ตาก ซึ่งมีเลือด 62.5% ชาร์โรเล่ส์ และ 37.5% บราห์มัน แล้วนำโคชั่วที่ 3 ผสมกัน คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นโคเนื้อพันธุ์ใหม่ เรียกว่า โคพันธุ์ตาก
ลักษณะประจำพันธุ์โคพันธุ์ตาก คือ เป็นโคที่มีขนาดใหญ่ปานกลาง อกกว้างและลึกมาก หลังตรง สะโพกใหญ่ ไหล่หนา คอสั้น ลำตัวมองดูเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกล้ามเนื้อมาก ขนมีลักษณะสั้นเกรียน สีขาวครีมหรือน้ำตาลอ่อน หูกางขนาดเล็กและสั้นพอสมควร มีตะโหนกเพียงเล็กน้อย เหนียงคอหย่อนยานพอสมควร หนังสะดือหย่อนยานเล็กน้อย และมีน้ำหนักแรกเกิดอยู่ที่ 29-32 กิโลกรัม น้ำหนักหย่านมปรับที่อายุ 200 วัน เฉลี่ย 190 กิโลกรัม อัตราการเจริญเติบโตเมื่อขุน 1,400 กรัมต่อวัน การให้เปอร์เซ็นต์ซากอยู่ที่ 60-63 %
โคพันธุ์ตากมีจุดเด่นที่ประกอบด้วย
- มีการเติบโตเร็ว เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก (marbling) ซากมีขนาดใหญ่ที่สนองความต้องการของตลาดเนื้อโคคุณภาพดี
- เลี้ยงง่าย หากินเก่ง ไม่เลือกกินหญ้า ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดีพอสมควร
- เหมาะที่จะนำมาผสมกับแม่โคพื้นเมือง โคบราห์มัน และลูกผสมบราห์มัน เพื่อนำลูกมาเลี้ยงเป็นโคขุนได้
- แม่พันธุ์ผสมพันธุ์ได้เร็ว ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก จะผสมพันธุ์ที่แม่โคอายุ 14 เดือน น้ำหนัก 280 ก.ก.ขึ้นไป
จากข้อดีดังกล่าว จึงทำให้โคพันธุ์ตาก เป็นพันธุ์โคเนื้อที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อของประเทศไทย โดยเฉพาะในธุรกิจโคขุนได้เป็นอย่างดี ทำให้ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือตอนล่าง อย่างเช่น จังหวัดตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ และจังหวัดทางภาคใต้ อย่างเช่น จังหวัดสุราษฏร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ผอ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทางศูนย์ฯ มีแม่พันธุ์โคพันธุ์ตากทั้งหมดประมาณ 200 แม่ โดยจะมีการสร้างฝูงทดแทนแม่พันธุ์ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของฝูง นั่นคือ ต้องมีมีแม่พันธุ์ทดแทนประมาณ 40 แม่ต่อปี โดยโคเพศเมียที่คัดเข้ามาทำเป็นแม่พันธุ์ น้ำหนักจะอยู่ที่ 300 – 340 กิโลกรัม ที่ต้องการให้มีน้ำหนักขนาดนี้เพราะต้องการให้มีความสมบูรณ์พันธุ์มากที่สุดและเพื่อป้องกันปัญหาแม่ทรุดโทรมหลังคลอด โดยอายุที่จะได้รับการผสมพันธุ์ครั้งแรกอยู่ที่ 16 เดือน
“ซึ่งล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ฯตาก และได้มอบนโยบายที่จะให้ทางศูนย์ฯเร่งขยายจำนวนสายพันธุ์โคพันธุ์ตากให้ไปสู่เกษตรกรมากขึ้นด้วย”
สำหรับในการขยายผลไปสู่เกษตรกรนั้น ในวันนี้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์ตากได้มีการดำเนินงานร่วมกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. สาขาลำปาง เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ตาก ภายใต้โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย หรือโครงการ XYZ โดยทางศูนย์ฯตากเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านการจัดอบรมให้ความรู้ทางวิชาการ และทางธ.ก.ส.สาขาตาก ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ
ธ.ก.ส. ร่วมมือทำงานเพื่อการพัฒนา
นางสุทธินันท์ พิริยะกฤต ผู้อำนวยการ สำนักงานธ.ก.ส. จังหวัดตาก หรือ ผอ.ต่าย กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงโคพันธุ์ตากที่ได้ดำเนินการร่วมกับทางศูนย์ฯตากนั้นเกิดขึ้นจากนโยบายของธ.ก.ส.จังหวัดตากที่ต้องการให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิตให้กับเกษตรกร ที่เดิมมีปัญหาว่า ตากนั้นเป็นจังหวัดที่มีปัญหาเกี่ยวกับขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรต้องประสบกับภาวะความแห้งแล้งมาทุกปี ซึ่งอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อเป็นหนึ่งในอาชีพทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของจังหวัดตาก ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคงอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงโคพันธุ์ตากขึ้น ภายใต้โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย หรือโครงการ XYZ
“เดิมนั้นในพื้นที่เกษตรกรมีการเลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้ว แต่เป็นสายพันธุ์พื้นเมือง เพื่อการยกระดับคุณภาพการเลี้ยงการผลิต สำนักงานธ.ก.ส.จังหวัดตาก จึงได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเลี้ยงโคในจังหวัดตากทั้งโคต้นน้ำ และโคแม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกโคสายพันธุ์ดี โคกลางน้ำ หรือโคโครง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับใช้เป็นโคขุนคุณภาพ โดยจนถึงขณะนี้ได้จ่ายสินเชื่อสนับสนุนเกษตรกรและกลุ่มวิสากิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการและดำเนินการเลี้ยงโคพันธุ์ตากแล้วจำนวน 49 กลุ่ม จำนวนเงินสินเชื่อ 61 ล้านบาท”
ผอ.สุทธินันท์ กล่าวต่อไปว่า โดยในการดำเนินงานดังกล่าว เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตากที่เข้าร่วมยังได้รับสิทธิพิเศษในการได้รับการลดดอกเบี้ยสินเชื่อ จากปกติดอกเบี้ยของโครงการ XYZ อยู่ที่ 3.51 เปอร์เซ็นต์ แต่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะรับภาระด้านดอกเบี้ยเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์ หรือ ดอกเบี้ยล้านละ 100 บาทต่อปี ซึ่งผลการดำเนินงานมาจนถึงขณะนี้ได้ผลออกมาเป็นที่พึ่งพอใจอย่างมาก
“สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดตากนั้นพร้อมสนับสนุนแหล่งเงินทุนและความรู้ในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีรายได้เพิ่มจากผลผลิตที่มีความปลอดภัยและมีมาตรฐานรองรับ เพราะจะส่งผลถึงความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของภาคเกษตรไทย” ผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดตาก กล่าวในที่สุด