อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดงาน Field Day ให้บริการความรู้แบบเห็นของจริงหนุนเกษตรกรผลิตมะม่วงหิมพานต์พืชทนแล้งสร้างรายได้ เริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2563 ณ ศพก.ท่าปลา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563/ นายเข้มแข็ง ยุติธรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หรือ Field Day ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้ รับทราบเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ช่องทางการตลาด ข้อมูลข่าวสาร การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ การจัดงาน Field Day ครั้งนี้ใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก.ของ นายศักดา พันธุ์เจริญ เกษตรกรต้นแบบการทำไร่นาสวนผสมและผลิตมะม่วงหิมพานต์ เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ที่มีเกษตรกรผู้นำเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้การสนับสนุนของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดงาน Field Day จึงเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ที่เหมาะสมของเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในการจัดงานแต่ละครั้งจะมีหน่วยงานเข้ามาให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจ และมีฐานเรียนรู้ต่างๆ ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี ช่องทางการตลาด แหล่งข้อมูลความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น
สำหรับเกษตรกรอำเภอท่าปลาได้มีการรวมกลุ่มเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นรายสินค้า ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา และโคเนื้อ โดยเฉพาะมะม่วงหิมพานต์ (Cashew Nut) ซึ่งเป็นสินค้า/ผลผลิตการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีความทนต่อการแห้งแล้งได้ดี สามารถปลูกได้ในทุกสภาพของดิน แต่ต้องมีการระบายน้ำที่ดี โดยมีพื้นที่ปลูกจำนวน 23,974 ไร่ เกษตรกร 3,098 ราย ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่อำเภอท่าปลาได้ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต และรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำนมมะม่วงหิมพานต์ มะม่วงหิมพานต์รสชาติต่างๆ สร้างรายได้ให้กับชุมชน
สำหรับการจัดงานวัน Field Day ณ ศพก.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ครั้งนี้ ได้นำเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 5 สถานี เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ คือ 1. การลดต้นทุนการผลิตมะม่วงหิมพานต์ 2. การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะม่วงหิมพานต์ 4. การแปรรูปมะม่วงหิมพานต์และการตลาด และ 5. การทำอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านการเกษตร ในรูปแบบนิทรรศการเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์ เรื่องการจัดทำบัญชีต้นทุนการผลิต โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อุตรดิตถ์ เรื่องการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยสำนักงานประมงอำเภอท่าปลา เรื่องการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ โดยสำนักงานปศุสัตว์อำเภอท่าปลา เรื่องแมลงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีการผลิตพืช โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่องการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่องเทคโนโลยีการผลิตพืช โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ เรื่องการบริการความรู้เรื่องการทำเชื้อเห็ด โดยเขื่อนสิริกิติ์ เรื่องการบริการความรู้เรื่องการเงินเพื่อการเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สาขาท่าปลา เรื่องการบริการความรู้เรื่องการตลาดและการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร โดยสหกรณ์นิคมฯ ลำน้ำน่าน จำกัด และสหกรณ์การเกษตรท่าปลา จำกัด และ เรื่องการผลิตและแปรรูปยางพาราคุณภาพ โดยการยางแห่งประเทศไทยสาขาอุตรดิตถ์ รวมทั้งยังมีกิจกรรมออกร้านจำหน่ายสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพ Smart Farmer/Young Smart Famer โดยการจัดงานครั้งนี้ มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอท่าปลา และอำเภุอใกล้เคียงมาร่วมงาน ไม่น้อยกว่า 500 คน
กิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมของพี่น้องเกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2563 โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ เพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือ หากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้ต่างๆ จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ และ ศพก. ก็จะเป็นที่พึ่งพา ช่วยเหลือดูแลเกษตรกร ในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
“ผมจึงอยากขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรมาร่วมเรียนรู้ และเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ในการจัดงาน Field Day แต่ละจังหวัด โดยกิจกรรมหลักจะมีสถานีเรียนรู้ที่บูรณาการองค์ความรู้จากหลายหน่วยงาน ซึ่งเน้นเนื้อหา และเทคโนโลยีที่จำเป็นในกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรได้รับทราบ การให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ นิทรรศการของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร รวมทั้งภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน และมีกิจกรรมเสริม เช่น การแสดงและจำหน่ายสินค้าของสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลการจัดงาน Field Day ได้ ณ สำนักเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ครับ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว