เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล

วันนี้รูปแบบการผลิตพืชผลกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราเคยหวังฤดูกาลตามธรรมชาติ “ปลูกให้เทวดาดูแล” มานานกาล แต่บัดนี้ไม่อาจไว้วางใจอีกแล้ว

เมื่อวันที่ 14-19 มกราคม 2563 สยามคูโบต้าได้ชักชวนสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานที่เมืองโอซาก้า เกียวโต และนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น วัตถุประสงค์สำคัญก็คงเป็นเรื่องฉลองครบรอบ 130 ปี คูโบต้ากรุ๊ป https://bit.ly/3asICNQ ซึ่งได้จัดอย่างยิ่งใหญ่ และที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ การได้ศึกษาดูงานด้านเกษตรที่ถือได้ว่าญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลมาก

ขอเริ่มเข้าเรื่องตามที่จั่วไว้ “ญี่ปุ่นคิดค้นโดมปลูกพืชผักไร้เสา….” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า AIR DOME เรื่องนี้บอกกันก่อนว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโลกเลยก็ว่าได้ ล่าสุดอย่างไรก็ติดตามกันดูนะครับ

คุณมาซาจิ โกซาไก ( Masaji Kosakai) ประธาน LS Farm กำลังอธิบายเรื่อง AIR DOME นวัตกรรมโรงเรือนปลูกผักไร้เสา
คุณมาซาจิ โกซาไก ( Masaji Kosakai) ประธาน LS Farm กำลังอธิบายเรื่อง AIR DOME นวัตกรรมโรงเรือนปลูกผักไร้เสา

เจ้าของนวัตกรรมที่ว่านี้คือ LS Farm เป็นกิจการในกลุ่ม LS-LINKS โดยมี คุณมาซาจิ โกซาไก (Masaji Kosakai) เป็นประธานและผู้แทนผู้อำนวยการ ที่วันนี้นำคณะมาต้อนรับพวกเราถึงด้านหน้าสำนักงานที่ทำการ จากนั้นพาเดินขึ้นไปชั้น 2 เข้าไปนั่งในห้องบรรยาย คุณมาซาจิ เล่าให้ฟังว่า ตัวเขานั้นเคยเป็นวิศวกรออกแบบเครื่องบินแอร์บัส ส่วน LS Farm ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 2008 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการเกษตร นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาบุคคลากรให้กับเกษตรกรแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของนาโงย่า และยังมีโรงสีขาวที่ทันสมัยที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน เพื่อรองรับผลผลิตข้าวที่เป็นอีกหนึ่งกิจการของบริษัท และแน่นอนที่สุดว่าเขาใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะจากคูโบต้า หรือ KUBOTA Smart Agri System (KSAS) อาทิ ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าว ที่ใช้ระบบ KSAS ในการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ควบคุมผ่านแอปพลิเคชั่นบนแทปเล็ต โดยใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจจับความชื้นในข้าวก่อนการเก็บเกี่ยว เพื่อใช้วางแผนเก็บเกี่ยวอย่างเหมาะสม สามารถระบุตำแหน่งรถเกี่ยวนวดข้าวขณะทำงาน และปริมาณข้าวที่ได้ เพื่อส่งข้อมูลวิเคราะห์จับเก็บแยกคัดถังอบแห้ง สะดวกในการควบคุมอุณหภูมิในการอบข้าวให้แห้งสม่ำเสมอทั่วกัน  เพื่อลดต้นทุน ประหยัดเวลา ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงวางแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากบอกเล่าถึงภารกิจของบริษัท ก็มาถึงไฮไลท์สำคัญเมื่อคุณมาซาจิ โกซาไก บอกว่าบริษัทของเขาได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโลกที่เรียกว่า AIR DOME เพื่อการปลูกพืชผลในระบบโรงเรือน แต่โรงเรือนของเขานั้นไม่ต้องมีเสาเหมือนโรงเรือนที่เคยเห็นกันคุ้นตา

"โปรดให้ความสนใจกับความพยายามในอนาคตของเรา” คุณมาซาจิ โกซาไก กล่าว
“โปรดให้ความสนใจกับความพยายามในอนาคตของเรา” คุณมาซาจิ โกซาไก กล่าว

“เรากำลังปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชบนพื้นดินที่เริ่มเป็นเรื่องยากในแง่ของสภาพภูมิอากาศและเทคโนโลยีการปลูกพืชลงบนพื้นดินไม่อาจได้ผลเหมือนแต่ก่อน เราไม่อาจสามารถผลิตพืชผักผลไม้ได้พอเพียงต่อความต้องการของพลโลก และสิ่งสำคัญที่สุดพืชผักที่เป็นอาหารที่คุณรับประทานเข้าไปเราต้องมั่นใจว่าปลอดภัยต่อการใช้สารเคมีป้องกันโรคแมลงต่างๆ และการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็นเพื่อให้สีและรูปร่างตามขนาดที่กำหนด” นี่เป็นเหตุผลให้ LS Farm คิดค้น AIR DOME ขึ้นมา “เรากำลังติดต่อกับ “อาณาจักรของพระเจ้า” (God’s realm) รวมถึงพันธุวิศวกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต ไม่อย่างนั้นแล้วลูกหลานของเราอาจจะว่าเอาได้ว่ารุ่นของเราไม่มีความรับผิดชอบอันใดเลย”

“เราต้องการคิดหาวิธีที่จะทำสิ่งที่เราต้องทำตามการตัดสินใจที่ถูกต้องในเวลาของเรา และบรรลุผลเพื่อที่ลูกหลานจะได้มีอนาคตที่อุดมสมบูรณ์ โดนหนทางที่เรา LS Farm จะต้องก้าวไปข้างหน้าในฐานะ บริษัท ผลิตด้านการเกษตร เราไม่ได้เผชิญหน้ากับธรรมชาติ แต่เพื่อค้นหาวิธีการเกษตรที่ผสมผสานและเติบโตอย่างยั่งยืน ที่พูดนี้มันไม่เกินจริง โปรดให้ความสนใจกับความพยายามในอนาคตของเรา” คุณมาซาจิ โกซาไก พูดให้ฟัง (อ้างอิงจากเอกสารคำแถลงของประธานที่กล่าวแนะนำบริษัทต่อลูกค้าผู้มีอุปการคุณ)

AIR DOME เพื่อการปลูกพืชผลจึงเข้ามาตอบโจทย์ เพื่อแก้ไขสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคแมลงและความเสี่ยงทางธรรมชาติที่หลากหลาย โดย LS Farm ได้คิดประดิษฐ์จนมีความมั่นใจว่าใช้งานได้ดี และเป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น ซึ่งคุณมาซาจิ โกซาไก เปิดเผยว่าเคยมีประเทศเกาหลีคิดจะทำตามแต่ทำไม่สำเร็จ

หน้าตา AIR DOME โรงเรือนปลูกผักไร้เสา (ภาพจาก LS Farm)
หน้าตา AIR DOME โรงเรือนปลูกผักไร้เสา (ภาพจาก LS Farm)
คุณสมบัติของโรงเรือนเกษตรแบบโดม AIR DOME
  • “โครงสร้างไร้เสา” (นิวแมติก) โดยไม่มีท่อหรือเสาใดๆ
  • ไม่มีเงาแสง เพราะไร้เสา และจะมี “ฟิล์มกระจายแสง”
  • “การเพาะปลูกในแนวตั้งและหลายชั้น” โดยใช้ความสูง
  • อัตราผลตอบแทน / การเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น (เพราะเพาะปลูกแบบหลายชั้นได้มากกว่า)
  • ศัตรูพืชไม่เข้าสู่โรงเรือน เนื่องจากโครงสร้างที่ปิดอย่างมิดชิด “การใช้ยาฆ่าแมลงลดลงอย่างมาก”
  • “โครงสร้าง(โดมพลาสติก)เคลือบสองชั้น” ทำให้มีความไวต่ออากาศภายนอกน้อยลงและลดต้นทุนการทำความร้อนในฤดูหนาว
  • สามารถเพาะปลูกได้ทุกฤดูกาล เช่น การเพาะปลูกตามสัญญาที่ต้องการความมั่นคงของผลผลิต การเพาะปลูกเพื่อให้บริการแก่ร้านอาหารท้องถิ่น โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ
  • ฯลฯ

    ระบบการปลูกผักเป็นแนวตั้ง
    ระบบการปลูกผักเป็นแนวตั้ง (ภาพจาก LS Farm)

ในการบรรยายให้ความรู้เรื่องนวัตกรรม โรงเรือนเกษตรแบบโดม AIR DOME ในครั้งนี้ ถือว่าได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนประเทศไทยเป็นยิ่งนัก มีการซักถามกันอีกหลายประเด็น รวมทั้งเรื่องราคาที่ทราบว่าเริ่มต้น 10 ล้านบาท (มีขนาดยาว 22 เมตร 45 เมตร และสูง 10 เมตร-เรื่องราคาจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง) ทำให้คิดอยู่ในใจว่าแพงเหลือเกิน แต่เมื่อคิดถึงคำพูดของคุณมาซาจิ โกซาไก ในตอนต้นที่ว่า “โปรดให้ความสนใจกับความพยายามในอนาคตของเรา” ก็พอจะลดระดับความคิดให้เข้าใจว่าตัวของเขาและทีมงานทำสิ่งที่สำคัญต่อมวลมนุษย์ชาติก็ว่าได้

จำลองให้เห็นว่าสามารถปลูกผักเป็นชั้นๆได้อย่างอิสระ
สามารถปลูกผักเป็นชั้นๆได้อย่างอิสระ (ภาพจาก LS Farm)

หลังจากบรรยายให้ข้อมูลประกอบโมเดลที่วางไว้หน้าห้องและภาพจากคลิปวิดีโอที่ฉายให้ดูเสร็จสรรพก็คิดว่าคงได้ไปดูของจริง แต่เสียดายไม่ได้ไปดู แต่ก็โชคดีได้ไปดูโรงสีข้าวของ LS Farm ที่เป็นธุรกิจเพื่อชุมชนคนส่วนใหญ่ ซึ่ง AIR DOME ที่ว่าจะเน้นในรูปแบบโมเดลธุรกิจเฉพาะของบริษัทที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเสียมากกว่า

เรามาศึกษาดูงานที่โรงสีข้าวของ LS LINKS ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับ AIR DOME
เรามาศึกษาดูงานที่โรงสีข้าวของ LS LINKS ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับ AIR DOME

ณ โรงสีข้าวเขาใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะจากคูโบต้า หรือ KUBOTA Smart Agri System (KSAS) ตามข้อมูลที่กล่าวข้างต้นแล้ว ชอบใจที่ว่าโรงสีข้าวของเขาไม่ค่อยจะมีฝุ่นแบบบ้านเราเท่าไรนัก เรียกว่านั่งประชุมฟังบรรยายกันในโรงสีข้าวได้สบายใจ คุณมาซาจิ โกซาไก  ได้มอบหมายให้ผู้จัดการของเขาบรรยายให้พวกเราฟัง แต่ตัวเขาก็มาเป็นกำลังใจ และโชว์ข้าวสารที่ลูกค้านำมาสีให้ดูด้วย

โรงสีแห่งนี้ใช้ระบบจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะจากคูโบต้า หรือ KUBOTA Smart Agri System (KSAS)
โรงสีแห่งนี้ใช้ระบบจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะจากคูโบต้า หรือ KUBOTA Smart Agri System (KSAS)…สังเกตที่ตู้ควบคุมด้านซ้ายของภาพ

ที่ด้านหน้าของโรงสีข้าว LS Farm มีจักรกลเกษตรของคูโบต้าจอดอยู่ 2 คัน คันหนึ่งเป็นแทรกเตอร์ รุ่น SL60 อีกคันเป็นรถดำนา รุ่น NW6S และพวกเราทั้งหมดก็ถ่ายรูปด้านหน้าโรงสี ส่วนด้านหลังก็มีจักรกลเกษตรคูโบต้าเป็นแบล็คกราวด์นั่นเอง

คณะศึกษาดูงานถ่ายภาพร่วมกับคณะ LS LINKS ที่ด้านหน้าของอาคารสำนักงาน
คณะศึกษาดูงานถ่ายภาพร่วมกับคณะ LS LINKS ที่ด้านหน้าของอาคารสำนักงาน
ลุงพร เกษตรก้าวไกล กับคุณมาซาจิ โกซาไก เขาย้ำว่า ความพยายามของเขาก็เพื่อลูกหลานนั่นเอง
ลุงพร เกษตรก้าวไกล กับคุณมาซาจิ โกซาไก เขาย้ำว่า ความพยายามของเขาก็เพื่อลูกหลานนั่นเอง
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated