เรื่อง/ภาพ : จตุพล เกษตรก้าวไกล
วันนี้ คุณวันชัย แก้วประทานพร ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขามวกเหล็ก จ.สระบุรี และคณะ พาทีมงานเกษตรก้าวไกล ไปสัมผัสความสามารถของเกษตรกรหัวขบวนของ ธ.ก.ส. เขาคือ คุณประเทือง มานะกุล เกษตรกรปริญญาโท แห่ง มานะกุลฟาร์ม อ.วังม่วง จ.สระบุรี ที่สร้างความมั่นคงในอาชีพ ด้วยการพัฒนาก้าวสู่ เกษตรยุค 4.0 กับอาชีพการเลี้ยงปลาดุกแบบแปลงใหญ่กลางเนินเขา บนพื้นที่ 15 ไร่ จับรอบหนึ่งเป็นสิบๆ ตัน เป็นรายได้เสริมจากการเลี้ยงโคนมที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่…
คุณประเทือง กล่าวว่า อาชีพหลักคือเลี้ยงวัวนม แต่ใช้พื้นที่บางส่วนมาเลี้ยงปลาดุก จำนวน 15 บ่อ จริงๆ แล้วพื้นที่ของตนอยู่ในอ.วังม่วง แต่ไปเป็นลูกค้าของธ.ก.ส.สาขามวกเหล็ก สาเหตุที่มาเลี้ยงปลาดุก เพราะที่นี่เป็นแหล่งโรงงานแปรรูปไก่ เราจึงนำส่วนที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม นำมาเลี้ยงปลาดุก เป็นการลงทุนที่ต่ำ ปัจจุบันมีสมาชิก 46 ราย จำนวน 115 บ่อ ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรแปลงใหญ่ แต่ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนอีกเยอะ ตนก็พยายามชักชวนให้มาขึ้นทะเบียน เพราะจะมีอำนาจต่อรอง ปัจจุบันตนเป็นประธานกลุ่มแปลงใหญ่เลี้ยงปลาดุก ต.วังม่วง จ.สระบุรี แต่ก็ยินดีรับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อ.มวกเหล็ก แก่งคอย เพราะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกัน
“ผมเลี้ยงปลาดุกมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว จริงๆ เลี้ยงมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารสูง ผมจึงนำมาปรับเปลี่ยนใหม่นำอาหารที่หาได้ในพื้นที่มาเลี้ยง คือจำพวกซี่โครงไก่มาบดผสม ปลากินแล้วโต ต้นทุนต่ำๆ เราก็อยู่ได้ ช่วงนี้ขายราคากิโลกรัมละ 46 บาท เป็นพันธุ์บิ๊กอุย และพันธุ์รัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นลูกผสมระหว่างปลาดุกรัสเซียกับปลาดุกอุย เพราะการเจริญเติบโตจะดีกว่า” เจ้าของมานะกุลฟาร์ม กล่าว และพาเราเดินชมฟาร์ม พร้อมกล่าวว่าตนเลี้ยงในน้ำลึกประมาณ 4 เมตร เพราะพื้นที่เราจำกัด จึงต้องเลี้ยงให้ได้ปริมาณมากขึ้น ในน้ำลึกทำให้ปลาโตมากขึ้น เพราะพ่อค้าส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานจะนิยมนำไปย่างขายหรือทำปลาแดดเดียว ฟาร์มเราจับขายปีละ 2 รอบ ดีกว่าการทำไร่ข้าวโพด
คุณประเทือง กล่าวว่า ตนเลี้ยงบ่อละประมาณ 1 ไร่ หรือครึ่งไร่ แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่เราจำกัดจึงต้องเลี้ยงในน้ำลึก เพิ่มประชากรของปลา และในน้ำลึกทำให้ปลาโตมากขึ้น จะได้เพิ่มจำนวนตันมากขึ้น เราเลี้ยง 5 เดือนก็จับขาย ปลาดุกที่ขายมี 4 ไซส์ น้ำหนักปลา 1-2 ตัวต่อกิโลกรัม เรียกว่า “โบ้” ขนาด 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม จะเรียกว่าไซส์ย่าง ถ้าขนาด 7-8 ตัวต่อกิโลกรัม จะนำไปทำเค็มหรือปลาดุกแดดเดียว เล็กกว่านั้นก็จะทำปลาป่น
คุณประเทือง กล่าวว่าคนงานที่ใช้เลี้ยงปลาดุกก็คือคนงานที่เลี้ยงโคนม หมุนเวียนกันไป เราใช้อาหารเม็ดโปรตีน 32 เราจะให้อาหารเพื่อโชว์ตัวเท่านั้น (อย่างเช่นวันที่เราไปชม) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโคลงไก่บด ปลาดุกจะกินอาหารในช่วงเช้าและเย็น นำโคลงไก่มาบดให้ตอนเช้า 1 ตัน และตอนเย็น 3 ตัน
เราต้องลดต้นทุนการผลิตทุกอย่าง เราซื้อปลาเล็กมาเลี้ยงขนาดตัวละ 6-7 สตางค์ นำมาเลี้ยง 5 เดือน จึงจับขาย เราไปซื้อจากฟาร์มที่มีจีเอพี อนาคตเราจะผลิตลูกปลาเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต 1 ไร่ 1 บ่อ ได้กำไรบ่อละ 1 หมื่นบาท เราต้องละเอียดนับปลาตั้งแต่ซื้อมาเลี้ยง ถ้าเราไม่นับปลาก็จะเจ๊งตั้งแต่เริ่มต้น
“สำหรับมือใหม่การเลี้ยงปลาดุก เราต้องดูว่าพื้นที่เขาอยู่ตรงไหน ใกล้แหล่งอาหารไหม ถ้าไม่มีวัตถุดิบคืออาหารอยู่ใกล้แล้วอย่าเลี้ยง ราคาปลามันจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เหมือนราคาน้ำนมที่ค่อนข้างจะมีราคามาตรฐานกลาง ยิ่งช่วงนี้พื้นที่บางจังหวัดน้ำท่วมปลาที่เลี้ยงไว้ก็จะไปกับน้ำ ทำให้ขาดทุน”
“โดยเฉพาะต้นทุนอาหารจะสูงกว่าต้นทุนอื่นๆ เราจะใช้โครงไก่บดผสมอาหารไก่ นอกจากนี้ยังใส่เกลือทะเลเพื่อให้เกิดความเหนียวและรักษาปลาด้วย ช่วงที่ใกล้จับเราจะเสริมด้วยไส้ไก่เพื่อให้ปลาอ้วน บ่อหนึ่งเราเคยทำสูงสุดได้ถึง 45 ตัน” ประธานแปลงใหญ่ปลาดุกวังม่วง กล่าวและว่าราคาปัจจุบัน 46 บาทต่อกิโลกรัม ค่าอาหารเราประมาณ 30 บาทกว่าๆ ใช้เวลาเลี้ยง 5 เดือน โรคภัยไข้เจ็บของปลาไม่ค่อยมี แต่จะมีคือเรื่องราคา เราต้องจับให้ตรงเวลา ถ้าเลยเวลา เช่นเลี้ยงเกิน 6 เดือน เราก็จะเปลืองค่าอาหารและขาดทุน
นอกจากการลดต้นทุนการผลิตเรื่องอาหารปลาดุกแล้ว ต้องลดต้นต้นทุกอื่นๆ ทุกอย่าง เช่น ปลาเล็กที่ซื้อมาเลี้ยงขนาดตัวละ 6-7 สตางค์ เราไปซื้อจากฟาร์มที่มีจีเอพี อนาคตเราจะผลิตลูกปลาเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันนี้เราสามารถผลิตเฉลี่ย 1 ไร่ 1 บ่อ ได้กำไรบ่อละ 1 หมื่นบาท เราต้องละเอียดนับปลาตั้งแต่ซื้อมาเลี้ยง ถ้าเราไม่นับปลาก็จะเจ๊งตั้งแต่เริ่มต้น
คุณประเทือง กล่าวอีกว่า ตนจบการศึกษาปวช.ไปทำงานเรืออยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมตั้งแต่รุ่นพ่อ รวมทั้งเลี้ยงปลาดุก จากนั้นก็ไปเป็นประธานสภา อบต.วังม่วง จึงไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีที่ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และต่อปริญญาโท ที่ ม.ราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี
ด้าน คุณวัยชัย แก้วประทานพร ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า เคยมาเยี่ยมชมบ่อปลาดุกบ่อย พื้นที่ตรงนี้เหมาะแก่การเลี้ยงปลา เพราะเป็นที่ลุ่มเนินเขา ลดความเสี่ยงจากการปลูกข้าวโพดและอ้อย การเลี้ยงปลาดุกจึงเป็นทางรอดอีกช่องทางหนึ่งของเกษตรกร ที่ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุน เพราะราคาปลาดุกจะไม่ตกต่ำเหมือนพืชไร่ นอกจากจะส่งขายเป็นปลาดุกย่างแล้ว ยังนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็ม ปลาย่าง และยังนำไปทำเป็นน้ำพริกปลาป่น เกษตรกรท่านใดสนใจอยากมีอาชีพเสริมโดยการเลี้ยงปลาดุก นอกจากการทำไร่แล้ว ติดต่อธ.ก.ส.มวกเหล็กได้ เรายินดีจะพาเกษตรกรมาเรียนรู้กับคุณประเทือง เพราะคนที่เลี้ยงปลานั้นต้องมีใจรัก เราจะเป็นคนช่วยประสานเพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณประเทือง มานะกุล ที่เบอร์โทร 081-365-0634 และถ้าปรึกษาเรื่องการเงินติดต่อธ.ก.ส.สาขามวกเหล็ก คุณวัยชัย แก้วประทานพร ผจก.สาขา เบอร์โทร 081-551-2356 ยินดีให้บริการครับ