เรื่อง/ภาพ : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล
เบญจมินฟาร์มเขาใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 153 หมู่ที่ 14 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทร.06-2898-9525 เป็นสวนเกษตรที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของ “ธงชัย เบ็ญจมินทร์” หนึ่งในเกษตรกรหัวขบวนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สาขาเขาใหญ่ ที่ได้พลิกฟื้นผืนดิน 15 ไร่ให้กลายเป็นสวนเกษตรผสมผสาน อุดมไปด้วยพืชพันธุ์หลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชสมุนไพรอย่างย่านางแดง มะรุม หมากเม่า มะม่วงหาวมะนาวโห่ ไม้ผลอย่าง มะพร้าวน้ำหอม เสาวรส น้อยหน่า ลำไย มะละกอ ทุเรียน รวมถึงไม้ยืนต้นอย่าง ต้นพยุง
“แต่ก่อนทำงานบริษัทเกี่ยวกับยางรถยนต์ที่กรุงเทพฯ พอลาออกแล้วก็กลับมาอยู่บ้าน กลับมาเป็นเกษตรกรตามที่ตั้งใจไว้”
คุณธงชัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นกับ ลุงพร เกษตรก้าวไกล และ คุณวิษณุ จันทร์หอม เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. สำนักงานเขาใหญ่ ที่ได้นำพาไปเยี่ยมชมสวนแห่งนี้
การเข้ามาสู่อาชีพเกษตรกรนั้น เจ้าของสวนแห่งนี้บอกว่า ปลูกมาหลายอย่าง ทำมาหลายรูปแบบ แต่วันนี้ได้มาลงตัวกับการทำสวนเกษตรผสมผสานในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ ที่มีย่านางแดง เป็นพืชหลักในการสร้างรายได้
“ต้นแรกที่เห็นตอนนี้ผมปลูกมาประมาณ 7 ปีแล้ว” คุณธงชัย กล่าว
เริ่มจากการรักษาโรคกรดไหลย้อน
สาเหตุที่มาปลูกนั้น เพราะด้วยป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน และจากการศึกษาพบว่า ย่านางแดงเป็นพืชสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการช่วยรักษาอาการของโรคกรดไหลย้อนกลับ
“โรคกรดไหลย้อนกลับเป็นแล้วทรมานครับ เพราะจะทั้งจุกเสียด แน่นท้อง แสบร้อนกลางอก จุกในลำคอ และมีอาการเรอเปรี้ยว เรียกว่านอนไม่ได้ นอนไม่หลับเลย ช่วงนั้นหากรู้ว่ายาไหนที่ว่าดีไปเอามากิน แต่กินไปก็ไม่หาย หมดเป็นๆหมื่นที่ต้องรักษามาหลายปี แถมกินยามากๆ อนาคตเสี่ยงต่อการสะสมตกค้างในตับอีก”
“แต่หลังจากกินย่านางแดงเพียงเดือนเดียว หายเป็นปลิดทิ้ง และไม่กลับมามีอาการอีกเลย” คุณธงชัย กล่าว
จากการเริ่มต้นด้วยการรักษาตัวเอง จึงทำให้เขาเกิดแนวคิดว่า ถ้าปลูกจำหน่ายเพื่อให้เพื่อนร่วมโลกที่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นกันมาก ได้นำไปใช้ในการรักษาเพื่อให้หาย จะเป็นการดี
จากแนวความคิด ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายแปลงปลูกเพิ่มจำนวนหญ้าย่าแดงในสวนเพิ่มมากขึ้น โดยวันนี้ที่เบญจมินฟาร์มเขาใหญ่มีต้นย่านางแดงปลูกไว้ทั้งหมดประมาณ 3,000 ต้น
“ย่านางแดงที่เบญจมินฟาร์มเขาใหญ่ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งทางด้านดินและน้ำ มีภูมิศาสตร์ที่ดี ในการปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ เราปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ปลอดภัยไร้สารเคมี และจัดเก็บสมุนไพรตามแบบฉบับตำราไทย เพื่อรักษาคุณประโยชน์ ให้คงอยู่มากที่สุด” คุณธงชัย กล่าว
ในวันนี้นอกจากปลูก เกษตรกรผู้นี้ยังนำมาแปรรูปเป็นชาสมุนไพรสูตรย่านางแดงเพื่อเพิ่มมูลค่า และรับประทานง่าย ภายใต้แบรนด์ “ชาทีมิน” ที่มีทั้งแบบชงและแบบแคปซูล ซึ่งเน้นการขายแบบออนไลน์ ที่มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจสั่งซื้อกันอย่างต่อเนื่อง
ย่านางแดง ปลูกอย่างไร ?
สำหรับย่านางแดงนั้นมีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป เช่น แถบพื้นที่จังหวัดตาก ลำปาง จะเรียกว่า “สยาน” หรือขึ้นไปทางเหนือจะเรียกว่า “เถาขยัน” ส่วนอีสานบ้านเฮา จะเรียกว่า “หญ้านางแดง”
จากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ให้ข้อมูลถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ว่า เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง พาดพันไปตามต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 5 เมตร เถาขนาดกลางๆมักแบนมีร่องตรงกลาง สีออกเทาน้ำตาล เถาแก่กลม สีน้ำตาลแดง มีมือพันสำหรับยึดเกาะ ออกเป็นคู่ ปลายม้วนงอ
ใบดกหนาทึบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ผิวใบมัน สีเขียวเข้ม ปลายใบเว้าตื้น กึ่งเรียวแหลมถึงมีติ่งหนาม โคนใบกลมถึงรูปหัวใจตื้น ขอบใบเรียบ ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ 3-5 เส้น ปลายเส้นใบโค้งจรดกัน ก้านใบยาว 2-3.5 เซนติเมตร หูใบรูปเคียว ร่วงง่าย
ดอกช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง รูปทรงกระบอกแคบ โค้งเล็กน้อย ปลายบานห้อยลง ยาว 15-100 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีแดงสด มี 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.2-1.5 เซนติเมตร มีขนสีขาวปกคลุม ปลายกลีบดอกแหลมมน ฐานรองดอกรูประฆัง เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านเกสรสีแดง ยื่นพ้นกลีบดอก เกสรเพศผู้เป็นหมัน 7 อัน ยาวไม่เท่ากัน รังไข่ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีขนสั้นปกคลุม ก้านสั้น ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียไม่ชัดเจนใบประดับรูปลิ่ม ติดทน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีแดง 5 กลีบ รูปถ้วย ยาว 0.5-1 เซนติเมตร มีขนสั้นปกคลุม สีชมพูอ่อนหรือสีแดง ปลายแยกเป็น 5 แฉก
ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนฝักเป็นรูปหอก สีเขียวอ่อน เปลือกแข็ง เมื่อแก่แตกอ้า ยาว 15-16 เซนติเมตร เมล็ด 8-9 เมล็ด รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร
ย่านางแดงจะพบตามป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง และที่โล่งแจ้ง โดยออกดอกช่วงเดือน พฤษภาคม ถึงสิงหาคม
“ย่านางแดงมีความพิเศษ เพราะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น ซึ่งจะเข้าไป บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก จุกเสียด จุกแน่น ในท้อง จากกรดไหลย้อน และโรคกระเพาะ ได้อย่างดีและเห็นผลที่ชัดเจน” คุณธงชัย กล่าว
สำหรับการปลูกต้นย่านางแดงนั้น คุณธงชัยบอกว่า ส่วนของการขยายพันธุ์จะนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด
โดยหลังจากเพาะต้นได้ต้นกล้าตามอายุในการปลูกแล้วจะนำมาลงแปลงปลูก โดยมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หลังจากต้นโตแล้วจะมีการให้ปุ๋ยชีวภาพ อย่างพด. 2 ฉีดพ่นเสริมธาตุอาหารให้
โดยในช่วงแรกนั้นต้องมีการใส่ใจดูแลมากหน่อย เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี อย่างการรดน้ำจะต้องให้น้ำวันละ 2 ครั้ง โดยใช้ระบบสปริงเกอร์ อีกทั้งต้องมีการกำจัดวัชพืช ซึ่งเน้นการใช้วิธีการถางหญ้าเป็นหลัก
อีกเทคนิคที่ธรรมดาที่ คือ มีเปิดเพลงให้ต้นไม้ได้ฟัง จะส่งผลให้ต้นไม้ทุกต้นมีความสุข
อีกจุดคือ ต้องมีการทำเป็นนั่งร้านสูงประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ต้นย่านางแดงได้เลื้อยขึ้นเกาะ เหมือนกับในธรรมชาติที่เวลาเติบโตจะเลื้อยนเกาะไปตามต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ข้างเคียง โดยการทำค้างนั้นจะทำเมื่อต้นย่านางแดงมีอายุได้ประมาณ 2 ปี ซึ่งลำต้นจะมีการแตกแขนงยาวขึ้นต้องหาที่ยึดเกาะ และอีกอย่างการทำค้างจะมีส่วนช่วยทำให้ปริมาณใบมีมากขึ้น
“หลังจากปลูกประมาณ 18 เดือน จะสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์คือ ใบ”
ในส่วนของโรคแมลง จากประสบการณ์ในขณะนี้หลังจากที่ต้นย่านางแดง อายุ 2 ปีไปแล้วจะไม่ค่อยพบโรคแมลงอะไรเข้ามาระบาดทำลาย
“ตรงนี้ต้องอยู่ที่การจัดการดูแล หากดูแลดีต้นย่านางแดงแข็งแรง จะไม่พบการระบาดของโรคแมลง และอีกเทคนิคที่ใช้คือ การปลูกพืชสมุนไพรไว้รอบๆสวน อย่างมะรุมเพื่อช่วยไล่และป้องกันแมลงศัตรูเข้าระบาด” คุณธงชัย กล่าว
เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย เอาใบมาทำชา
การเก็บใบย่านางแดง คุณธงชัยบอกว่า จะเน้นการเก็บเฉพาะในส่วนของใบแก่ ด้วยวิธีเก็บง่ายๆคือ ใช้มือเด็ด ใบที่เก็บได้จะถูกนำไปแปรรูปเป็นชาทีมินเพื่อจำหน่าย จุดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่ต้องใส่ใจมากๆ โดยทางสวนจะยึดหลักของขบวนการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อให้ลูกค้า ได้รับสินค้าที่ดีที่สุด
“อย่างเรื่องการตากใบให้แห้ง เราจะใช้โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความสะอาดและมีคุณภาพ”
หลังจากตากจนแห้งได้ตามที่กำหนด ทางสวนจะส่งไปยังโรงงานเพื่อดำเนินขบวนการแปรรูปออกมาเป็นชาทีมินเพื่อจำหน่าย
“ตอนนี้ในส่วนของตลาดรองรับนั้น ได้รับความสนใจจากทั้งคนไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมากว่า “ชาทีมิน พิชิตกรดไหลย้อน” สำหรับผู้สนใจ สามารถที่จะแวะมาเยี่ยมชมขบวนการผลิต และมาชิมชาทีมินได้ตลอดเวลา” คุณธงชัย กล่าวทิ้งท้าย