เกษตรฯ คลายทุกข์เกษตรกรช่วงวิกฤตภัยแล้ง ปูพรม 8 มาตรการรับมือแบบบูรณาการทั่วประเทศทั้งช่วยเหลือและส่งเสริมรายได้ เผยการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562-2563 ตรงตามเป้า ที่ร้อยละ 51 ของแผนฯ พร้อมชี้สถานการณ์น้ำเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 447 แห่ง ปัจจุบัน (11 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 43,428 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19,650 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน โดยการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด (10 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 9,086 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,600 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนฯ

ทั้งนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติกรมชลประทาน จึงได้ทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้ในการอุปโภค–บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็ม โดยได้ขอความร่วมมือไปยังส่วนราชการในจังหวัดต่างๆ ที่มีสถานีสูบน้ำ งดสูบน้ำชั่วคราว และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำปฏิบัติตามมาตรการการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด

“ขณะที่สถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา (ข้อมูลวันที่ 11 ก.พ.63) ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี และสถานีท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ (มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ซึ่งประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์การเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรอย่างใกล้ชิด ได้ที่ www.TMD.go.th , www.RID.go.th , www.DOAE.go.th

รองอธิบดกรมชลประทานกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ โดยการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ผ่านคลองรังสิตฯ คลองระบายน้ำที่ 13 ลงสู่คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาสนับสนุนปริมาณน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปา เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยเช่นกัน

14781

ทางด้าน นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง ส่งผลให้หลายพื้นที่ไม่ได้เพาะปลูกพืช และทำให้เกษตรกรขาดรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับบางพื้นที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และเกิดน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีแผนดำเนินการใน 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ฤดูแล้ง ปี 2562/63 ดังนี้

มาตรการที่ 1: การเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา

มาตรการที่ 2: การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2563”

มาตรการที่ 3 : โครงการบูรณาการกิจกรรมและความร่วมมือในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานเพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้แก่เกษตรกร

มาตรการที่ 4 : โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2563 มาตรการที่ 5: โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชตระกูลถั่ว มาตรการที่ 6: โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาปี 2562/63

มาตรการที่ 7: การถ่ายทอดความรู้และการจัดวันสาธิตในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)

มาตรการที่ 8: โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือประชาชนและเกษตรกรดำเนินตามมาตรการแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตรในช่วงวิกฤตดังกล่าวตามมาตรการช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามเพื่อขอข้อมูล คำแนะนำสำหรับความช่วยเหลือได้ที่เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดในพื้นที่ของท่าน หรือทางเว็บไซต์ www.moac.go.th หรือ สายด่วน 1170

โดยการดำเนินการทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated